จับตาโครงการเน็ตประชารัฐ เฟส 2 กังขา “ล็อกสเปก?”

94

จี้กสทช.แจงเหตุเปลี่ยนกฏเกณฑ์เงื่อนไขคุณสมบัติผู้เข้าประมูลเฟส 2 ซับซ้อนกว่าเฟสแรก พร้อมต้องจ่ายเงินสมทบ หวั่นเปิดช่องให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น อดีตที่ปรึกษา กมธ. วิทยาศาสตร์การสื่อสารผ่านดาวเทียมวุฒิสภาย้ำ เรื่องนี้เพิกเฉยไม่ได้

เกี่ยวกับความคืบหน้า การจัดให้มีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Auction หาผู้ให้บริการ โครงการเน็ตประชารัฐ (USO NET) เฟส 2 จำนวน 15,732 หมู่บ้าน วงเงินงบประมาณ 3,283.15 ล้านบาท ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าร่วมประกวดราคาฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

แต่หลายฝ่ายได้ออกมาตั้งข้อสังเกตุถึงความโปร่งใส และการตั้งหลักเกณฑ์เงื่อนไขสำหรับผู้ที่จะเข้าร่วมการประกวดราคาหาผู้ให้บริการ โครงการเน็ตประชารัฐ (USO NET) เฟส 2 ดังกล่าว โดย “นางลัลน์ลลิตฤดี วิเศษศิริ” ประธานสมาพันธ์นักข่าวแห่งประเทศไทยที่ปรึกษาสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ในฐานะอดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการวิทยาศาสตร์การสื่อสารผ่านดาวเทียมวุฒิสภา ออกมาเปิดเผยถึง ข้อสังเกตุเกี่ยวกับหลักเกณฑ์หรือการระบุสเปกในการประกวดราคาเพื่อหาผู้ให้บริการ USO ในครั้งนี้ ว่า “ในการจัดให้มีการประกวดราคา หาผู้ให้บริการโครงการเน็ตประชารัฐ (USO NET) เฟส 2 นี้ มีการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขโดย กสทช. ให้ทางผู้เข้าร่วมการประกวดราคา มีผลงานรับรองคือการนำส่งเงินสบทบให้ทาง กสทช. (ตามมติที่ประชุมสรุปออกมาคือ 10% เท่ากับ 80 ล้านบาท) ซึ่งการนำส่งเงินสบทบนี้มีอัตรา 2% ของยอดขาย เท่ากับผู้ผ่านคุณสมบัติต้องมียอดขายแอร์ไทม์ไม่น้อยกว่าปีล่ะ 1,600 ล้านบาทถึงจะนำส่ง 80 ล้านบาทได้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวก็เป็นคำถามที่ว่าการระบุเงื่อนไขในการเข้าร่วมการประกวดราคาในครั้งนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับรายใหญ่เท่านั้นจริงหรือไม่?

นอกจากนี้ จากการประมูลในเฟสที่ 1 ใช้ข้อบังคับแค่ต้องมีใบอนุญาตประเภทที่ 3 เท่านั้น แต่ในการประกวดราคาในเฟส 2 มีการระบุให้ผู้เข้าร่วมฯ จะต้องมีใบอนุญาตประเภท 1 ซึ่งที่ผ่านมาในการส่งงวดงานในเฟสที่ 1 ผู้รับงานทุกรายก็สามารถส่งงานได้ตามกำหนดทุกประการ แต่เหตุใดจึงต้องมีการระบุเงื่อนไขการเข้าประกวดในเฟส 2 ที่จะต้องมีการเปลี่ยนคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประกวดเพิ่มเติม ซึ่งก็มีข้อสังเกตุว่าจะเป็นเอื้อประโยชน์ต่อผู้สนใจเข้าประกวดราคาที่เป็นรายใหญ่ๆ เท่านั้นหรือไม่?

เพราะที่ผ่านมาการจะได้ใบอนุญาตประเภทที่ 3 ต้องผ่านความเห็นชอบหลายขั้นตอน ซึ่งการที่จะได้รับต้องผ่านการตรวจคุณสมบัติอย่างเข้มงวด และต้องผ่านคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหญ่เท่านั้นที่จะอนุมัติได้ ดังนั้นการกำหนดคุณสมบัติผู้มีใบอนุญาตประเภทที่ 3 ก็น่าจะพอเพียงแล้ว

กรณีการตั้งกฏเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดให้มีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Auction หาผู้ให้บริการ โครงการเน็ตประชารัฐ (USO NET) เฟส 2 จึงเป็นที่น่าสังเกตุในหลายประการ” อดีตที่ปรึกษา กมธ. วุฒิสภา กล่าวและว่า

“จากกฏเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดโดยกสทช.ในการจัดประกวดราคาในครั้งนี้ อาจกลายเป็นช่องทางของการก่อให้เกิดการทุจริต และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และเอื้อประโยชน์ให้กับผู้สนใจเข้าประกวดราคาฯ บางราย ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า การกำหนดกฏเกณฑ์และเงื่อนไขของการประกวดราคาฯ ในครั้งนี้ เกี่ยวกับคุณสมบัติผู้มีสิทธิยื่นเสนอราคาของสำนักงาน กสทช. มีลักษณะเลือกปฎิบัติไม่เป็นธรรมอันเป็นเหตุให้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเจาะจงเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจในด้านโครงข่ายโทรคมนาคมรายใหญ่ และกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาฯ จริงหรือไม่?

และในฐานะประธานสมาพันธ์นักข่าวแห่งประเทศไทยและเป็นที่ปรึกษาของสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น รวมถึงเคยเป็นอดีตที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมาธิการวิทยาศาสตร์การสื่อสารผ่านดาวเทียมวุฒิสภา จึงมิอาจเพิกเฉยต่อข้อสังเกตุและคำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ และ อยากให้ทางกสทช.ออกมาชี้แจงเพื่อความบริสุทธิ์และมีความโปร่งใสถึงกฏเกณฑ์ในการจัดประกวดราคาดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กรต่างๆ ว่า การจัดประกวดราคาฯ ในครั้งนี้เป็นไปอย่างถูกที่ถูกทางและให้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญต่อการรักษาความไว้วางใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงชื่อเสียงของกสทช. และเป็นการมีส่วนร่วมในการร่วมปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน” นางลัลน์ลลิตฤดี กล่าวในที่สุด