เผยสถิติอาการฉุกเฉินขณะตั้งครรภ์ ห่วงใยคุณแม่ อายุมากต้องดูแลพิเศษ

94

ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 สัปดาห์ ของการตั้งครรภ์จนถึงวันคลอด เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี ไม่ให้เกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ โดยล่าสุดมีการเผยสถิติออกมาว่า คุณแม่ขณะตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคฉุกเฉิน  โดยเฉพาะความผิดปกติของเลือดที่ออกมาจากช่องคลอด ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้

เนื่องในเดือนสิงหาคม เป็นเดือนแห่งวันแม่  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  (สพฉ.)  จึงได้ออกประกาศเตือน ขอให้ผู้ใกล้ชิด รวมทั้งตัวคุณแม่ ให้ความสำคัญกับการดูแลแม่ หรือ คนที่กำลังจะเป็นแม่ให้ปลอดภัย

นายแพทย์ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย

นายแพทย์ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  (สพฉ.) กล่าวว่า  ระดับความเสี่ยงของแม่  ขึ้นอยู่กับอายุและการดูแลร่างกายของแม่   ซึ่งตามปกติแม่ที่เริ่มมีอายุมากขึ้น จะมีภาวะเสี่ยงต่อโรคฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น   โดยเฉพาะแม่ที่ตั้งครรภ์และมีอายุมาก ยิ่งต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพราะจะยิ่งมีความเสี่ยง

จากสถิติ ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2560  พบว่า มีการนำส่งผู้ป่วยเพศหญิง อายุระหว่าง 30-50 ปี  ที่เจ็บป่วยฉุกเฉินจากการตั้งครรภ์ การคลอดและนรีเวช   8,410  คน คิดเป็นร้อยละ 0.53 จากผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งหมด  โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยฉุกเฉินมาก 5 อันดับแรก คือ  นราธิวาส 478  ราย  ,  สงขลา 471  ราย , อุบลราชธานี  338 ราย , ขอนแก่น 328  ราย และ ปัตตานี  289 ราย

สำหรับอาการฉุกเฉินระหว่างการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะมีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุและจะมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป อาทิ การตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะตกเลือด  และภาวะเลือดออกในช่องท้องจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งอาจทำให้แม่เสียเลือดมาก ถือเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ โดยอาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูกสามารถสังเกตได้ดังนี้ จะปวดท้องข้างใดข้างหนึ่งขึ้นมาโดยฉับพลัน มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดคลำเจอก้อนที่ท้องและมีอาการอ่อนเพลียหรือหน้ามืดในขณะที่ลุกขึ้น

นพ.ไพโรจน์  บอกว่า การตกเลือดหรืออาจเรียกว่า “เลือดตกใน” คือจะมีเลือดออกจากเส้นเลือดภายในร่างกาย แต่ไม่ไหลออกมาภายนอกให้เห็นชัดเจน  ซึ่งสาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่นการฉีกขาดของอวัยวะและเส้นเลือดภายใน  หรือ  ความดันในเส้นเลือดสูง ความดันเลือดในร่างกายสูงกว่าปกติ อาจทำให้เส้นเลือดบางแห่งแตก  จะมีอาการ คือ ซึม ซีด   เหงื่อออก ตัวเย็น  ชีพจรเบาและเร็ว หายใจเร็ว

ส่วนการปฐมพยาบาลผู้ที่มีภาวะตกเลือด จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ต้องรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด  และระหว่างนั้นต้องให้ผู้ป่วยนอนนิ่ง ๆ   ให้ศีรษะต่ำกว่า  โดยยกปลายเท้าให้สูงเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองและป้องกันอาการช็อก ห่มผ้าให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย คอยสังเกตชีพจร การหายใจตลอดเวลา ถ้าหยุดหายใจ ต้องรีบทำการช่วยหายใจทันที