โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยยังอยู่ในกระแสที่น่ากังวล เนื่องจากยังมีข่าวของการติดเชื้อและเสียชีวิตให้เห็นอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของกรมควบคุมโรคระบุว่า ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. 2561 มีสัตว์ที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้วกว่า 1,000 ตัว นอกจากการรณรงค์ป้องกันแล้ว ล่าสุดยังได้พัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นเพื่อติดตามและเฝ้าระวังผ่านระบบทะเบียนสัตว์เลี้ยงอีกด้วย
แอปพลิเคชัน(Mobile Application) “Stop Rabies” ทำทะเบียนสัตว์เลี้ยง จัดทำขึ้นเพื่อเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต และพื้นที่ปริมณฑล โดยจะทำให้ทราบถึงจำนวนสัตว์เลี้ยง จำนวนสัตว์ที่ได้รับวัคซีน และการทำหมัน รวมถึงรายงานผู้ป่วยยืนยัน เพื่อการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคทั้งคนและสัตว์อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
โดยไม่นานมานี้ ที่ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ผศ.นายสัตวแพทย์ ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และนายแพทย์วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ร่วมเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การบูรณาการการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า พื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่รอยต่อ” ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในคน ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 4 ส.ค. 2561 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า 15 ราย และจากข้อมูลใน Thairabies.net ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ทั่วประเทศพบสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า 1,180 ตัว พบในสุนัขมากที่สุด 1,034 ตัว รองลงมาเป็นโค 85 ตัว แมว 46 ตัว กระบือ 6 ตัว กระบือเนื้อ 4 ตัว แพะ 2 ตัว กวาง ม้า และสุกร อย่างละ 1 ตัว จะเห็นได้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าเกิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆได้เช่นกัน ไม่ใช่เป็นเฉพาะสุนัขเท่านั้น
การควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล ต้องร่วมกันในหลายภาคส่วน ทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) และในปี 2561 นี้ กรมควบคุมโรค โดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักโรคติดต่อทั่วไป ศูนย์สารสนเทศ ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร พัฒนา Mobile Application ในการทำทะเบียนสัตว์เลี้ยงในกรุงเทพฯและปริมณฑล ทำให้ทราบจำนวนสัตว์เลี้ยง จำนวนสัตว์ที่ได้รับวัคซีน และการทำหมัน ที่ใกล้เคียงความจริง สามารถนำข้อมูลมาใช้วางแผนดำเนินการ เช่น วางแผนจัดหาวัคซีน การควบคุมประชากรสัตว์เลี้ยง รวมถึงการรายงานผู้ป่วยยืนยัน ให้เกิดการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคดังกล่าว และสร้างระบบเตือนภัยให้เห็นถึงวงรัศมีและพื้นที่ที่ต้องเข้าไปดำเนินการ นอกจากนี้ยังใช้พัฒนาระบบการสร้างที่พักอาศัยชั่วคราวให้สุนัข และเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการสื่อสารสร้างความเข้าใจสำหรับประชาชน
สำหรับแอปพลิเคชัน (Mobile Application) นี้ มีชื่อว่า “Stop Rabies” แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรกประชาชนสามารถเข้าดูข้อมูลสถิติ กิจกรรม และข่าวสารเพื่อการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนที่สองเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปรายงานข้อมูล รวมถึงการใช้ข้อมูลทะเบียนสัตว์เลี้ยง เพื่อดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคทั้งคนและสัตว์ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพขึ้น โดยประชาชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ http://ncd.ddc.moph.go.th/rabies2018/ หรือใช้ผ่านสมาร์ทโฟนทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) และไอโอเอส (IOS) โดยระบบแอนดรอยด์สามารถกดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้แล้ว ส่วนในระบบไอโอเอสต้องรอปรับปรุงระบบ คาดว่าจะดาวน์โหลดได้เร็วๆ นี้ (ภายในเดือน ก.ย. 2561) ซึ่งไอโอเอสให้เข้าไปที่ App Store ส่วนแอนดรอยด์ให้เข้าไปที่ Google play แล้วเลือกช่องค้นหา (search) พิมพ์คำว่า “Stop Rabies” ก็จะแสดงแอปพลิเคชันชื่อ “Stop Rabies” ขึ้นมาให้เลือก ท่านก็สามารถเลือกติดตั้งและใช้งานได้ฟรีทันที
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการอภิปรายและฝึกปฏิบัติการลงข้อมูลประชากรสัตว์เลี้ยง โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แพทย์ สัตวแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และผู้รับผิดชอบงานโรคพิษสุนัขบ้าจากศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง, สำนักอนามัย กรุงเทพฯ และพื้นที่รอยต่อกรุงเทพฯ ได้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี (สคร.4 สระบุรี), สคร.5 ราชบุรี, สคร.6 ชลบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด 6 แห่ง ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย รวม 155 คน