ศิลปากรเป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุมนานาชาติด้านศิลปะและการออกแบบครั้งแรกของโลก

596

มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ Quacquarelli Symonds (QS) สำนักจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และมีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก อาทิ QS World University Rankings, QS Asian University Ranking และ QS World University Rankings by Subjects จัดงานแถลงข่าวประกาศถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการ จัดงานประชุมสุดยอดวิชาการนานาชาติด้านศิลปะและการออกแบบ ในชื่อ  QS Totally  Arts  Summit  (Art & Design) 2018  ซึ่งจะจัดขึ้นครั้งแรกในโลก ระหว่างวันทื่  24–26 ตุลาคม 2561  ณ โรงแรมมิลเลเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันชัย สุทธะนันท์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงงานประชุม QS Totally Arts Summit (Art & Design) 2018 ที่จะเกิดขึ้นว่า มหาวิทยาลัยศิลปากรนับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกจาก QS ให้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการประชุมสุดยอดวิชาการนานาชาติด้านศิลปะและการออกแบบ งานประชุมดังกล่าวนอกเหนือจากจะเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายทางวิชาการในด้านศิลปะและการออกแบบผ่านผู้เข้าร่วมงานที่ประกอบด้วย นักวิชาการ นักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการออกแบบรวมถึงศิลปินระดับโลกรวมกว่านับร้อยท่านยังนับเป็นวาระอันดีที่จะชูศักยภาพและความก้าวหน้าในการศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากรให้ทั่วโลกได้ประจักษ์อีกทางหนึ่ง

ซึ่งในโอกาสนี้ยังได้รับเกียรติจาก คุณ Mandy Mok ( CEO of QS Asia ) ที่มาร่วมกล่าวถึงศักยภาพของ QS ในฐานะผู้นำจัดอันดับสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับโลก และเหตุผลที่เลือกมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยแรกในเอเชียที่จัดงานประชุม QS Totally Arts Summit (Art and Design) เนื่องด้วยเป็นสถาบันเเห่งเเรกของไทยที่เปิดสอนด้านศิลปะเเละการออกแบบจนมีชื่อเสียงเเละได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติเเละนานาชาติ โดยมี อาจารย์ ดร.สุภาพ เกิดแสง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา   มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวชี้แจงถึงความร่วมมือของมหาวิทยาลัยศิลปากร และ QS และภาพรวมของการจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ

ภายในงานแถลงข่าวเพื่อเป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยศิลปากรในแง่ของการเรียนการสอนศิลปะและการออกแบบระดับแนวหน้าของประเทศ ศาสตราจารย์ ญาณวิทย์ กุญแจทอง คณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์   มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึง อาจารย์ ดร.ธนาทร เจียรกุล คณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังได้ร่วมกล่าวถึงศักยภาพของทั้งสองคณะในฐานะการเป็นผู้นำด้านการสร้างสรรค์ผลงานในระดับชาติและนานาชาติ พร้อมกันนี้ยังได้รับเกียรติจากคุณอริญชย์  รุ่งแจ้ง มาร่วมกล่าวถึงประสบการณ์ และพัฒนาการงานศิลปะและการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ ที่สร้างชื่อเสียงระดับชาติและนานาชาติ โดยคุณอริญชย์ จะเป็น Key Note สำคัญในการประชุมที่จะถึงนี้ด้วย

การประชุมสุดยอดในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลักคือ 21th Century Education: Nurturing Passion with Purpose หรือ “การเรียนการสอนด้านศิลปะและการออกแบบในศตวรรษที่ 21 ฟูมฟักแรงบันดาลใจอย่างมีจุดหมาย” ซึ่งในส่วนของการประชุมจะมีการกล่าวปาฐกถาพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการศึกษาศิลปะและการออกแบบ ที่จะมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานด้านศิลปะในปัจจุบัน ที่เปลี่ยนแปลงไปตามนวัตกรรมของโลก อาทิ ศาสตราจารย์ Kin Wai Michael SIU จาก The Hong Kong Polytechnic University ศาสตราจารย์ด้าน Public Design ของมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดัง  ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง Public Design Lab ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและวิศวกรรม จนได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก อาทิ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ศาสตราจารย์ Norman Cherry อดีตรองอธิการบดีฝ่ายศิลปกรรม มหาวิทยาลินคอล์น สหราชอาณาจักร ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระผู้มีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นผู้บรรยายและที่ปรึกษาด้านศิลปะให้หลายประเทศ อาทิ ฮ่องกง ศรีลังกาและจอร์แดน  ศาสตราจารย์  Shiro Matsui อาจารย์ประจำสาขาภาพแกะสลัก มหาวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบแห่งเกียวโต (Kyoto City University of Arts) ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้เคยได้รับรางวัล Study in Japan Award ปี 2015 ให้เป็นสถาบันที่ควรเเนะนำให้แก่นักเรียนต่างชาติเข้าศึกษาต่อ และ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินไทยร่วมสมัย  ศิษย์เก่าของคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  เจ้าของผลงาน Golden Teardrop ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแสดงผลงานศิลปะในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “Venice Biennale 2013” ครั้งที่ 55 สาธารณรัฐอิตาลี

ปรีชา เถาทอง
อริญชย์ รุ่งแจ้ง

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัย 40 อันดับต้นของโลกด้านศิลปะ และการออกแบบ และสถาบันการศึกษาอื่นๆที่มีความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยศิลปากร อาทิ Nanjing University of Arts ประเทศไต้หวัน  University of South Florida ประเทศสหรัฐอเมริกา Kyoto City University of Arts ประเทศญี่ปุ่น มาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะทางการศึกษาศิลปะและออกแบบในครั้งนี้ด้วย

สำหรับหัวข้อหลักในการประชุมวิชาการนั้น มี 4 ประเด็นสำคัญในการหารือร่วมกัน ได้แก่

  1. Reinventing Art and Design Education
  2. Art and Design as fundamentals of the Creative Economy
  3. Purpose and Impact: Art in Contemporary Human Society
  4. Measuring Passion: Metrics for Excellence in Art and Design Educator

ตลอดสามวันของการจัดงานจะมีการนำเสนอผลงานวิชาการจำนวนกว่า 54 เรื่อง จากนักวิชาการ นักวิจัยชั้นนำรวมถึงการจัดแสดงผลงานสะสมของมหาวิทยาลัยศิลปากร จากเวทีประกวดศิลปกรรมระดับ ชาติ 3 เวที และผลงานจากนักออกแบบที่ได้รับรางวัลระดับชาติอีกกว่า 20 ชิ้น อาทิ

ผลงานของชาติชายปุยเปีย
  1. ผลงานรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ ประเภทจิตรกรรม/ ชาติชาย ปุยเปีย : ศิลปินที่มีชื่อเสียงใน ผลงานจิตรกรรม
  2. ผลงานรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ ประเภทจิตรกรรม/ ปรีชา เถาทอง : ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์- วิจิตรศิลป์ (ปี 2552)
  3. ผลงานรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ ประเภทภาพพิมพ์/ สุรสีห์ กุศลวงศ์ : ศิลปินศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ (ปี 2557) ศิลปินที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติงานแนว Conceptual
  4. ผลงานรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ ประเภทภาพพิมพ์/ จักรี คงแก้ว : ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงด้านภาพพิมพ์