อดนอนมากไป อาจสมองเสื่อมได้

70

เคยมั้ย? ที่ต้องอดนอนหามรุ่งหามค่ำทั้งด้วยเหตุผลจากการทำงาน การเรียน หรือแม้แต่การทำกิจกรรมคลายเครียดที่แต่ละคนนิยมข้ามคืน เช่น ดูซีรี่ย์ เล่นเกม อ่านนิยาย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เราต่างรู้ว่าไม่ใช่พฤติกรรมที่ดีนัก แต่หลายๆ คนยังทำกันจนกลายเป็นนิสัยที่เลิกได้ยาก ซึ่งผลกระทบที่ตามมานั้นไม่ใช่เพียงแค่เกิดอาการอ่อนเพลียในวันถัดไป แต่อาจทำให้กลายเป็นโรคสมองเสื่อมได้อย่างไม่ทันตั้งตัว!

ปัจจุบันมีนักวิจัยค้นพบว่าท่ามกลางการทำงานของสมองอันเหนื่อยล้าจะมีเซลล์บางชนิดที่ถูกกระตุ้นให้ขยันทำงานเกินเหตุจนเริ่มเป็นภัยกับตัวเอง ถึงขั้นเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ได้ โดยเปลือกสมอง (cortex) ประกอบด้วยเซลล์ประสาทที่โยงใยกันเป็นวงจรผ่านหน่วยเชื่อมต่อย่อยๆมากมาย โดยมีเซลล์พี่เลี้ยง คือ เซลล์แอสโทรไซต์ (astrocyte) และ เซลล์ไมโครเกลีย (microglia) คอยช่วยดูแลบำรุงรักษาเซลล์ประสาทและหน่วยเชื่อมต่อเหล่านั้นให้ทำงานเป็นปกติ

คำถามคือ ถ้าหากอดนอนต่อเนื่องเป็นวันๆ จะเกิดอะไรขึ้นกับสมองและเซลล์พี่เลี้ยงเหล่านั้น?
มิเคลิ เบลเลซี (Michele Bellesi) จากมหาวิทยาลัยมาร์เชโพลีเทคนิค (Marche Polytechnic University) ประเทศอิตาลี ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน (University of Wisconsin–Madison) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาวิจัยภาวะอดนอนในหนูทดลอง โดยเปรียบเทียบผลการศึกษาระหว่างกลุ่มที่ได้นอนหลับปกติ 6-8 ชั่วโมง กลุ่มที่ อดนอนระยะสั้น 8 ชั่วโมง และ กลุ่มที่อดนอนต่อเนื่อง ตื่นตาค้างถึง 5 วัน !

ทีมวิจัยใช้เทคนิคถ่ายภาพสามมิติด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนโดยตรวจวัดบริเวณหน่วยเชื่อมต่อเซลล์ประสาทในเปลือกสมองและพบว่ากลุ่มหนูทดลองที่ได้นอนหลับปกติมีเซลล์แอสโทรไซต์ที่อยู่ในภาวะถูกกระตุ้นประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มที่อดนอนระยะสั้นมีเซลล์ลักษณะดังกล่าวเพิ่มขึ้นที่ 8 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มที่อดนอนต่อเนื่องมีระดับเซลล์ถูกกระตุ้นเพิ่มขึ้นถึง 13.5 เปอร์เซ็นต์

ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่ายิ่งอดนอนนานขึ้น หน่วยเชื่อมต่อของเซลล์สมองจะถูกเซลล์แอสโทรไซต์ไปยุ่มย่ามหมายจะกำจัดทิ้งมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะที่เซลล์แอสโทรไซต์ถูกกระตุ้นจนขยันขันแข็งนี้ก็ยังไม่น่ากังวลนัก เพราะหน่วยเชื่อมต่อเซลล์ประสาทที่ถูกตัดแต่งออกไปโดยเซลล์แอสโทรไซต์ ส่วนมากจะมีขนาดใหญ่เต็มที่และผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก เสมือนกับเครื่องเรือนชิ้นเก่าๆ ที่ต้องไปดูแลปัดกวาดเช็ดถูเสียหน่อย

แต่ปัญหาคือ เจ้าเซลล์พี่เลี้ยงไมโครเกลียที่ดูจะขยันมากและมากเกินไป ปัญหาที่ว่านี้ เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มหนูทดลองที่อดนอนต่อเนื่องเป็นวันๆ โดยนักวิจัยพบว่า เซลล์ไมโครเกลียถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้นจนเข้าข่ายน่ากังวล เพราะเซลล์ไมโครเกลียบางส่วนยังคงสภาพถูกกระตุ้นเอาไว้ (sustained microglia activation) และเมื่อใดก็ตามที่มีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระตุ้นซ้ำ เซลล์ไมโครเกลียเหล่านั้นก็จะรับมือกับภาวะฉุกเฉินได้ไม่ดีจนทำงานผิดพลาด ซึ่งเซลล์ไมโครเกลียที่มีลักษณะผิดปกตินี้ก็สามารถพบได้ในโรคอัลไซเมอร์นั่นเอง

จากข้อมูลการวิจัยข้างต้น จึงสรุปได้ว่า การอดนอนอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้จำนวนเซลล์พี่เลี้ยงทำงานผิดปกติมากขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมไปในตัว

อย่างไรก็ตาม วิธีการการกลับตัวละทิ้งนิสัยนอนน้อย แล้วหันมานอนให้เพียงพอ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะสามารถช่วยฟื้นสภาพหรือป้องกันความเสื่อมถอยที่อาจตามมาได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้นทีมวิจัยจึงวางแผนศึกษาต่อเนื่องในประเด็นของระยะเวลาของผลกระทบจากการอดนอนเพิ่มเติมนั้นเอง

อ้างอิง: newscientist, jneurosci และ workpointtv
บทความโดย อาบทิพย์ สุวลักษณ์ (นักศึกษาปริญญาเอกด้วยประสาทวิทยาศาสตร์) และอาจวรงค์ จันทมาศ (สุดยอดแฟนพันธุ์แท้นักวิทยาศาสตร์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์)