กลุ่มธุรกิจ TCP องค์กรของคนไทยเจ้าของเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ และซันสแนค ประกาศเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแผนธุรกิจ 5 ปี ระยะที่ 2 พร้อมผนึกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทาง ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ร่วมกันขับเคลื่อนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 3 มิติคือ Integrity (พันธมิตรธุรกิจยั่งยืนและองค์กรธรรมาภิบาล) Quality (คุณภาพสินค้าและบริการ และคุณภาพชีวิตบุคคลากร) และ Harmony (รักษ์สิ่งแวดล้อม และชุมชนยั่งยืน) เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ เพื่อมุ่งยกระดับกลุ่มธุรกิจ TCP ขึ้นชั้น “บริษัทไทยที่ยิ่งใหญ่บนเวทีโลก”
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเผยว่า “ปี 2560 ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ประกาศเดินหน้าแผนธุรกิจ 5 ปี เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจที่ได้รับการชื่นชมที่สุดของไทย โดยการลงทุน 10,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของกลุ่มธุรกิจของเราให้แข็งแกร่ง เป็น “เฮ้าส์ออฟแบรนด์” ที่ทรงพลัง และการผลักดันยอดขายให้โตขึ้น 3 เท่าเป็น 100,000 ล้านบาท”
“สำหรับในปี 2561 นี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่องตามแผน 5 ปีระยะที่ 2 โดยการประกาศเป้าหมายที่มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจ TCP โดยแบ่งเป็น 3 เสาหลักคือ Integrity, Quality และ Harmony ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ”
เสาหลักแรกคือ INTEGRITY ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลกิจการอย่างรับผิดชอบ และการสนับสนุนให้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ภายใต้ 2 ภารกิจสำคัญที่เรียกว่าพันธมิตรธุรกิจยั่งยืน (Supply Chain Sustainability) และการเป็นองค์กรธรรมาภิบาล (Responsible Business)
“Integrity จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากคู่ค้าของเรา บอร์ดของบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ที่ต้องทำงานประสานกันเป็นลักษณะ “อีโคซิสเต็ม” (eco system) ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคม จนกระทั่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคอย่างปลอดภัย การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นธรรม รวมถึงส่งเสริมให้คู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจมีแนวปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงต้องลดความเสี่ยงด้านทุจริตคอรัปชั่นในทุกรูปแบบ พร้อมดำเนินธุรกิจที่เคารพต่อหลักกฎหมายทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจแก่องค์กรในระยะยาว” นายสราวุฒิ กล่าว
เสาหลักเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนเสาที่สอง คือ QUALITY ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน และการจัดการสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานให้เอื้อต่อการทำงานอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์บริการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย ตามหลักโภชนาการที่ดี ภายใต้ 2 ภารกิจสำคัญที่เรียกว่า คุณภาพสินค้าและบริการ (Quality of Product and Service) และคุณภาพชีวิตบุคคลากร (Quality of Life in Workplace)
โดยกลุ่มธุรกิจ TCP จะมุ่งมั่นสร้างสรรค์บริการให้มีประสิทธิภาพ และพัฒนาผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง มีความหลากหลาย ปลอดภัย ตามหลักโภชนาการที่ดี และสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบในท้องถิ่น รวมถึงส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นยังจะมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อเป็นองค์กรที่ใช่ในหัวใจพนักงาน (Employer of Choice) โดยการเคารพสิทธิมนุษยชนของพนักงาน ดูแลพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ สร้างความผูกพันกับองค์กร รวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ และความก้าวหน้าในอาชีพ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้คนดี คนเก่ง คนที่มีศักยภาพสูงอยากทำงานกับเรา และอยู่กับเราตลอดไป
เป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนสุดท้ายคือ HARMONY ที่มุ่งเน้นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการทำงานขององค์กร โดยคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้ 2 ภารกิจสำคัญคือ รักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Friendly) และชุมชนยั่งยืน (Socio-Economic Development)
กลุ่มธุรกิจ TCP มุ่งมั่นเพื่อทำให้กระบวนการทำงาน กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์และบริการขององค์กรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า และปลูกจิตสำนึกให้พนักงานเห็นความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งสร้างแนวทางอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันกับชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นยังมุ่งสร้างให้กลุ่มธุรกิจ TCP เป็นองค์กรที่ชุมชนและสังคมยอมรับ ด้วยการสร้างเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น และใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในด้านต่างๆ ในทุกที่ที่มีธุรกิจตั้งอยู่
“กลุ่มธุรกิจ TCP มองเป้าหมายของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนว่าเป็น ‘โอกาส’ ของธุรกิจ เพราะเป้าหมายดังกล่าวจะสนับสนุนให้เราได้พยายามคิดค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคม รวมถึงสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือที่ดีระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจในทุกมิติ ในการสร้างสรรค์กิจกรรม หรือโครงการที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงตลอดไป” นายสราวุฒิ กล่าว