หวัดใหญ่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ระวังพื้นที่หนาแน่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่พบมากสุด

33

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ  ยังคงนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บอย่างต่อเนื่อง และบางโรคก็อาจจะเกิดการติดต่อกันได้หากไม่ระมัดระวังเพียงพอ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีกลุ่มเสี่ยงที่ติดโรคนี้ได้ง่ายเช่น คนอ้วน หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยเรื้อรัง  จากรายการ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์” ฉบับที่ 173 ประจำสัปดาห์ที่ 33 (วันที่ 19 – 25 ส.ค. 61) โดยกรมควบคุมโรค ระบุว่า  การเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคหวัดใหญ่ในปี 2561 พบผู้ป่วยแล้ว 84,941 ราย เสียชีวิต 12 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ระยอง พะเยา และอุบลราชธานี  ในช่วงที่ผ่านมาสภาพอากาศแปรปรวนทำให้สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น และสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง ประมาณ 3 เท่า

จากโปรแกรมตรวจสอบฯ พบว่าในปี 2561 นี้พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มก้อน 93 เหตุการณ์ โดยจังหวัดที่เกิดเหตุการณ์สูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 11 เหตุการณ์ เชียงใหม่(8) นครราชสีมา(8) สงขลา(5) และพิจิตร(5)  นอกจากนี้   ยังพบว่าสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร เรือนจำ มีโอกาสเกิดโรคได้ง่าย โดยเฉพาะเรือนจำที่ปีนี้พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนถึง 18 เหตุการณ์ กระจายในหลายจังหวัด”

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดว่าในช่วงนี้จะมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูกาลระบาดของโรค ประกอบกับช่วงนี้สภาพอากาศแปรปรวน ร้อนสลับฝนตก ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทันทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย

การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มักเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยขณะการไอหรือจาม หรือ ใช้มือที่สัมผัสเชื้อมาสัมผัสกับจมูกหรือเยื่อบุตา  ดังนั้น การป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อที่ดีที่สุด ผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัยในช่วงที่มีการป่วย หลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้อื่นขณะมีอาการไข้หวัด หลีกเลี่ยงการหยิบจับสิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้อื่นและล้างมือเป็นประจำ

สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง ที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายและมักเป็นรุนแรง ได้แก่ โรคอ้วน หญิงตั้งครรภ์ และ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคธาลัสซีเมีย ผู้มีความผิดปกติทางระบบประสาทรวมทั้งโรคลมชัก และผู้มีอายุน้อยกว่า 2 ปี หรือมากกว่า 65 ปี ประชาชนในกลุ่มดังกล่าว ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพื่อลดความรุนแรงของโรค กรมควบคุมโรค

ทั้งนี้ ขอแนะนำว่า ในสถานที่ที่คนอยู่หนาแน่น เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร เรือนจำ ควรมีการคัดกรองผู้ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ หากพบควรแยกผู้ป่วยทันที รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ไม่ใช้ของใช้ส่วนบุคคลร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว  ควรทำความสะอาดจุดเสี่ยงและสิ่งของใช้ร่วมกันทุกวัน เช่น โรงอาหาร จุดเยี่ยมญาติ เรือนนอน ลูกบิดประตู ปุ่มเปิดปิดไฟ-พัดลม สอบถามโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”