แพทย์ชี้ชัด ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ขยาย trauma centres ทั่วประเทศ

142

อุบัติเหตุบนท้องถนนในเมืองไทย ยังคงปรากฎให้เห็นจนเป็นข่าวรายวัน ไม่ว่าอุบัติเหตุเหล่านั้นจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด แต่ก็นำมาซึ่งความสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และยังนำไปสู่ปัญหาที่ตามมาอีกมาก เป็นที่น่าใจหายว่าประเทศไทยมีสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการขับขี่มอเตอร์ไซด์ อยู่ในอันดับ 1 ของโลก

การรักษาพยาบาลฉุกเฉินเป็นหัวใจหลักในการรองรับผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ ดังนั้น จึงมีแนวคิดการสร้างศูนย์อุบัติเหตุขึ้น เพื่อเป็นด่านแรกเพื่อการรักษาพยาบาลในภาวะฉุกเฉิน ก่อนที่จะส่งตัวผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาล ล่าสุดแพทย์อาวุโส นพ.สุทร บวรรัตนเวช จากโรงพยาบาลกรุงเทพฯ ได้ชูแนวคิดในการขยายเครือข่ายศูนย์อุบัติเหตุให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเสนอแนะให้ผลักดันเป็นนโยบายแห่งชาติ

นพ.สุทร บวรรัตนเวช

นพ.สุทร บวรรัตนเวช ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์กระดูกและข้อกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้กล่าวในการสัมภาษณ์พิเศษ ที่จัดขึ้นในงานประชุมวิชาการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ประจำปีพุทธศักราช 2561 ระหว่างวันที่ 14-17 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ภายใต้แนวคิด Excellent Healthcare Network: Medical advances Meet Compassion ว่า

“เราอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของเครือข่ายศูนย์อุบัติเหตุ (trauma centres) ทั่วประเทศ และกำหนดให้เป็นนโยบายแห่งชาติ  โดยแพทย์ พยาบาลที่ศูนย์อุบัติเหตุจะทำหน้าที่ประเมินอาการผู้บาดเจ็บเพื่อส่งต่อไปยังสถานพยาบาล โรงพยาบาลที่มีความพร้อมด้านเครื่องมือ บุคลากรทางแพทย์ที่สามารถให้บริการทางการแพทย์ การพยาบาลได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที เพราะในภาวะฉุกเฉินเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก การรักษาพยาบาลฉุกเฉินถือเป็นหัวใจหลักในการรองรับอุบัติเหตุ ไม่ว่าอาการของผู้บาดเจ็บจะรุนแรงมากขนาดไหนก็ตาม เพราะอาการบาดเจ็บอาจทำให้เสียชีวิตได้ในบางราย”

การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย โดยการบาดเจ็บจากการจราจรทางบกเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตสูงขึ้น ผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุมักได้รับผลกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคต่อการกลับไปทำงานและใช้ชีวิตกับครอบครัว ทั้งยังต้องประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอีกด้วย

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) มีผู้เสียชีวิต 5,500 คน จากอุบัติเหตุจากการขับขี่รถมอเตอร์ไซด์ในประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่าสูงสุดในโลก และจากสถิติประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอันดับ 2 ของโลกเป็นรองจากประเทศลิเบีย เครือข่ายศูนย์อุบัติเหตุอาจช่วยกันสร้างโครงการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และประชาชนสามารถจัดการขอความช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างไร เพื่อช่วยลดอันตรายหรือผลกระทบต่อผู้รอดชีวิตที่ประสบอุบัติเหตุ รวมไปถึงการรณรงค์ให้ขับขี่อย่างปลอดภัย เพื่อการลดจำนวนผู้เสียชีวิตลง “มันถึงเวลาแล้วที่เราควรจะมีเครือข่ายศูนย์อุบัติเหตุทั่วประเทศ” นพ.สุทร กล่าว

สำหรับ “บีดีเอ็มเอส” ได้จัดตั้งศูนย์ bdms Alarm Centre ขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา โดยศูนย์มีเครื่องมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ครบครัน  โดยมีทีมแพทย์และบุคลาการทางการแพทย์ที่มีความพร้อมให้บริการทางการแพทย์แบบสหสาขา รวมถึงการพยาบาลฉุกเฉินทุกรูปแบบเพื่อรองรับอุบัติเหตุ ตั้งแต่การประเมินอาการผู้บาดเจ็บ การเคลื่อนย้าย การรักษา โดยทุกขั้นตอนเป็นไปตามหลักเกณฑ์สากล ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุ ผู้ป่วยกระดูกแตก กระดูกหักอันเนื่องจากการลื่น หกล้ม ที่ต้องการการดูแลอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ศูนย์ยังมีหน่วยบริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งทางอากาศ ทางบก และทางทะเล

มร.คริสเตียน เครทเทค

มร.คริสเตียน เครทเทค จาก Hannover Medical School ประเทศเยอรมันนี กล่าวในการสัมภาษณ์ร่วมว่า เยอรมันนีมีเครือข่ายศูนย์อุบัติเหตุที่เป็นระบบ โดยเครือข่ายได้จัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว เพื่อทำให้ผู้บาดเจ็บเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้ทันท่วงที ในแต่ละศูนย์จะมีเครื่องมือทางแพทย์ ทีมแพทย์สหสาขา ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ที่สามารถให้บริการทางการแพทย์กับผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุในหลายระบบ (polytrauma) ตลอดจนการติดตามอาการ นอกจากนี้ยังมีระบบการบริการก่อนถึงโรงพยาบาล (pre-hospital care system) ที่มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็น รถพยาบาลและเฮลิคอปเตอร์ ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ นอกจากนี้ มร.เครทเทค ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับ ศูนย์อุบัติเหตุของ BDMS ด้วยว่า ศูนย์มีระบบโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรที่ดีมาก รวมถึงทีมแพทย์ที่สามารถวินิจฉัยสาเหตุของปัญหาได้เป็นอย่างดี