ช่วงนี้หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีฝนตก น้ำท่วมขัง อันเป็นทราบกันดีว่า เป็นที่มาของโรคไข้เลือดออก จากแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หลายคนทราบดีถึงการป้องกันโรคไข้เลือดออกจากการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้อยู่มาก
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า พายุโซนร้อนเบบินคาที่จะเข้าไทยและมีผลทำให้ไทยมีฝนตกในหลายพื้นที่ กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนระวังโรคและ ภัยสุขภาพต่างๆ ที่จะมาพร้อมกับพายุ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 13 สิงหาคม 2561 พบผู้ป่วยกระจายทั่วประเทศ แล้ว 44,422 ราย เสียชีวิต 54 ราย โดยผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 3,328 ราย กลุ่มวัยเรียน (อายุ 10-14 ปี) ป่วยมากที่สุด ส่วนผู้เสียชีวิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ อายุ 35 ปีขึ้นไป
การประเมินการรับรู้ประชาชนของกรมควบคุมโรค (DDC Poll) เรื่องโรคไข้เลือดออก พบว่าประชาชนมีความเข้าใจผิดในหลายประเด็น เช่น ร้อยละ 28.6 คิดว่าผู้ใหญ่ไม่สามารถป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ และร้อยละ 11.8 คิดว่าโรคไข้เลือดออกสามารถซื้อยาแผนปัจจุบันทานเองได้ เป็นต้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า ประชาชนทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถป่วยโรคไข้เลือดออกได้มากกว่า 1 ครั้ง เนื่องจากโรคไข้เลือดออกมีด้วยกัน 4 ชนิด (ซีโรไทป์) การป่วยแต่ละครั้งจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การซื้อยาทานเอง อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลันและไข้นานเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย หลีกเลี่ยงการซื้อยาทานเอง ทั้งนี้ ขอความร่วมมือร้านขายยาทั่วประเทศ งดจำหน่ายยาลดไข้ประเภท NSIADs ทั้งชนิดฉีดและรับประทาน พร้อมแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคไข้เลือดออกไปตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็ว
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า 6 พื้นที่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ 1.โรงเรือน (บ้าน/ชุมชน) 2.โรงเรียน(สถานศึกษา/สถานเลี้ยงเด็กเล็ก) 3.โรงพยาบาล 4.โรงแรม/รีสอร์ท 5.โรงงาน/กลุ่มอุตสาหกรรม และ 6.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) โดยขอให้ประชาชนยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่รกทึบจนเป็นที่เกาะพักของยุงลาย 2.เก็บขยะ เศษภาชนะที่อาจมีน้ำขังไม่ให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ 3.เก็บภาชนะใส่น้ำปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422