WHO มุ่งมั่นป้องโลกจากภัยคุกคาม  ชมปฏิบัติการตอบโต้ ชีวะ-เคมี-รังสี-นิวเคลียร์ในไทย

135

คณะผู้บริหารระดับสูงขององค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมเยี่ยมชม “การสาธิตปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินจากเหตุการณ์ภัยคุกคามจากชีวะ เคมี รังสี และนิวเคลียร์” เพื่อเตรียมพร้อมรับและตอบโต้ภัยคุกคามต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เผยประเทศไทยเน้นความร่วมมือแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วน  ที่ผ่านมาไทยเคยได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (JEE-IHR 2005) ในระดับดีมาก โดยเฉพาะสมรรถนะที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมดังกล่าว 

พลตรี พรประสิทธิ์ กล่ำสมบัติ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก พร้อมด้วยพลโท หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล ที่ปรึกษากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก Dr.Maurizio Barbeschi (นพ.เมาริซิโอ บาร์เบสชี้)  ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สำนักงานใหญ่  นายแพทย์อัษฎางค์  รวยอาจิณ  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  และคณะผู้บริหารระดับสูงขององค์การอนามัยโลก  ร่วมชมการสาธิตปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินจากเหตุการณ์ภัยคุกคามจากชีวะ เคมี รังสี และนิวเคลียร์

พลตรี พรประสิทธิ์ กล่ำสมบัติ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก มีบทบาทหน้าที่ในการวางแผน อำนวยการ ประสานงาน กำกับการ วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการผลิต ส่งกำลัง ซ่อมบำรุง และการบริการ ทั้งทางด้านการฝึกและศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการและการป้องกันทางนิวเคลียร์-ชีวะ-เคมี ตลอดจนกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทหารบก รวมทั้งการสนับสนุนพลเรือนในการตอบโต้เหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินทางด้านชีวะ เคมี รังสีและนิวเคลียร์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยฝ่ายพลเรือน ปี 2550 ในวันนี้เป็นโอกาสอันดี ที่คณะผู้บริหารระดับสูงขององค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมเยี่ยมชม “การสาธิตปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินจากเหตุการณ์ภัยคุกคามจากชีวะ เคมี รังสี และนิวเคลียร์” เพื่อเตรียมพร้อมรับและตอบโต้ภัยคุกคามต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานร่วมกันของกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิร่วมกตัญญู ภาคีเครือข่ายอื่นๆ รวมทั้งหน่วยงานในระดับนานาชาติ

พลโท หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล ที่ปรึกษากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก กล่าวว่า ในส่วนปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากเหตุการณ์ทางด้านชีวะ เคมี รังสีและนิวเคลียร์ มี 2 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ หน่วยความมั่นคง คือ ทหาร โดยจะมีบุคลากรกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกเป็นผู้ปฏิบัติการหลัก จะปฏิบัติการทั้งตรวจยืนยัน ทำลายล้างพิษ การเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางคดี เป็นต้น ส่วนอีกหน่วยคือ หน่วยทางการแพทย์ จะมีการตรวจคัดกรอง ให้การรักษา ล้างพิษในตัวผู้ป่วย และส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาในโรงพยาบาล ในส่วนนี้ผู้ปฏิบัติงานจะเป็น กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค และมูลนิธิร่วมกตัญญู ทั้งนี้ การฝึกในครั้งนี้จะทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมทั้งทางด้านการประสานงาน การปฏิบัติการ และการจัดการภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากเหตุการณ์ทางด้านชีวะ เคมี รังสีและนิวเคลียร์ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน

Dr.Maurizio Barbeschi ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก สำนักงานใหญ่ กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ ทั้งในและนอกประเทศทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่น โรคเมอร์ส โรคซาร์ส นิปาห์ไวรัส มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงการจงใจกระทำของมนุษย์ที่เกิดจากความขัดแย้งหรือประสงค์ต่อชีวิตผู้อื่น เช่น เหตุการณ์ใส่เชื้อโรคแอนแทรกซ์ในซองจดหมาย การใส่สารพิษในน้ำดื่มน้ำใช้ เป็นต้น  องค์การอนามัยโลก ได้เสนอให้ทุกประเทศมีการเตรียมความพร้อมโดยให้ประเทศสมาชิกลงนามในอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวะ เคมี รังสีและนิวเคลียร์ ทั้งห้ามผลิต ส่งต่อ จำหน่าย และใช้งาน นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก ได้จัดทำคู่มือเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศสมาชิกในการเตรียมการพร้อมรับภัยคุกคามจากเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น และได้ทดลองประเมินความพร้อมประเทศต่างๆ เมื่อปี พ.ศ.2545 ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ได้รับการประเมินความพร้อมฯ และเป็นประเทศเดียวที่มีการประเมินรอบที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2548 และองค์การอนามัยโลกได้นำบทเรียนจากประเทศไทยไปเผยแพร่ และให้ประเทศอื่นๆ ได้เรียนรู้

ด้านนายแพทย์อัษฎางค์  รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศแบบพหุภาคีในการพร้อมรับภัยคุกคามจากชีวะ เคมี รังสี และนิวเคลียร์ (Chemical, biological, radiological and nuclear threats : CBRN) เมื่อปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา การเตรียมพร้อมและฝึกซ้อมอยู่เสมอจะทำให้บุคลากรทั้งทางด้านความมั่นคง และทางการแพทย์มีการพัฒนาศักยภาพ ประสานการดำเนินงาน และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่ออยู่ในสถานการณ์จริง

อย่างไรก็ดี ขอเน้นย้ำว่า ประเทศไทย มีความเสี่ยงต่ำ สำหรับเหตุการณ์การจงใจกระทำของมนุษย์ หรือการก่อการร้ายด้วยอาวุธชีวะ เคมี รังสีและนิวเคลียร์ แต่สิ่งที่พบเสมอในประเทศไทย คือ อุบัติเหตุจากสารเคมีรั่วไหล โรคระบาดที่เกิดขึ้นเองธรรมชาติ การสัมผัสหรือแยกขยะพิษโดยไม่ป้องกัน ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ ดังนั้นถ้าประชาชนท่านใด พบเห็นสิ่งผิดปกติหรือการเจ็บป่วยที่ผิดปกติ ทั้งในคนและสัตว์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือโทรสอบถามที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422