ทุ่ม 429 ล้าน เสริมทรายชายหาดพัทยา หลังพบเสื่อมโทรมหนักมาก

88

พัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ที่ได้รับความนิยมทั้งจากชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันพบว่า ชายหาดพัทยามีสภาพชายหาดที่เสื่อมโทรมอย่างหนัก เนื่องจากถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรง ล่าสุดกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้มีนโยบายเร่งด่วน โครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา  ล่าสุดได้รับการอณุมัติงบประมาณกว่า 429 ล้านบาท ปรับโฉมชายหาดพัทยา ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ตั้งแต่เหนือจรดใต้ หวังเป็นโครงการหลัก ช่วยฟื้นฟู และกระตุ้นการท่องเที่ยวชายหาดพัทยา ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง 

นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า  โครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา เกิดขึ้นเพราะสภาพชายหาดเมืองพัทยาซึ่งเป็นจุดขายสำคัญด้านการท่องเที่ยวกำลังประสบปัญหา ชายหาดมีสภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก เนื่องจากถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรง และหากปล่อยทิ้งไว้ อาจส่งผลให้ชายหาดบางช่วงขาดหายไปภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ดังนั้น จึงได้มีนโยบายเร่งด่วน เดินหน้าโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา ตั้งแต่ชายหาดพัทยาเหนือ บริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี จนถึงชายหาดพัทยาใต้ บริเวณวอล์คกิ้ง สตรีท รวมระยะทางประมาณ 2.8 กิโลเมตร เพื่อตอบสนองความต้องการของ  ผู้ประกอบธุรกิจริมชายหาดเมืองพัทยา ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาชายหาดที่สูญหายไป และเพื่อเป็นการปรับทัศนียภาพชายฝั่ง ให้น่าท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

“กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงต่อการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ และดูแลรักษาร่องน้ำและชายหาดของประเทศ ได้ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาถึงสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาของชายหาดพัทยา ซึ่งที่ผ่านมาได้ประชุมสัมมนาเพื่อนำเสนอข้อมูล ผลการศึกษาให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ รวม 6 ครั้ง พร้อมทั้งนำข้อคิดเห็นต่างๆมาปรับปรุงรูปแบบโครงการ จนได้แนวทางและรูปแบบการการเสริมทรายในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะของชายหาดพัทยา จึงเป็นที่มาของโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยาในครั้งนี้ ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการจัดสัมมนาระดับประเทศ  เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลของโครงการฯ  และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยน และรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อย ขณะนี้จึงอยู่ในระหว่างทำการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ” รองอธิบดีกล่าว

เมื่อการก่อสร้างเสริมทรายชายหาดพัทยาแล้วเสร็จ ชายหาดพัทยาจะกลับมามีสภาพสวยงามเช่นในอดีต มีหน้าหาดกว้าง สามารถใช้ประโยชน์ในธุรกิจการท่องเที่ยว และจัดกิจกรรมชายหาดต่างๆ ก่อให้เกิดรายได้ต่อประชาชน เทศบาลเมืองพัทยา และภาคธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามปัญหาการระบายน้ำของเมืองพัทยา โดยเฉพาะในฤดูฝนที่อาจไหลล้นทางเท้าถนน และกระทบต่อทรายชายหาดของโครงการ ซึ่งกรมเจ้าท่าและ สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำ ได้ประสานและแจ้งเทศบาลเมืองพัทยา ทราบและหาทางแก้ไขมาโดยลำดับ ทั้งนี้กรมเจ้าท่าได้ขอความร่วมมือเทศบาลเมืองพัทยาดำเนินการในระยะสั้น โดยการนำเครื่องจักรที่เทศบาลเมืองพัทยามีความพร้อมมาปรับเกลี่ยหาดทราย ภายหลังจากมีการระบายน้ำฝนลงชายหาด และในระยะยาว โดยการเร่งพัฒนาระบบบริหารจัดการระบบระบายน้ำของเทศบาลเมืองพัทยา เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานเสริมทรายฟื้นฟูชายหาดพัทยามีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเมืองพัทยา และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศต่อไป

โครงการนี้ได้รับงบประมาณจำนวน 429,054,242.92 บาท กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้าง บริษัท กิจการร่วมค้า มารีน คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยทำงานจ้างเหมาก่อสร้างเสริมทรายชายหาดพัทยา จังหวัดชลบุรี ทำงานตั้งแต่เดือน เมษายน 2561 โดยใช้แหล่งทรายบริเวณตะวันตกของเกาะรางเกวียน ซึ่งอยู่ห่างจากทิศใต้ของเกาะล้านออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร ขั้นตอนการดูดทรายจากทะเล ( DREDGING WORK ) และการขนส่งทราย คือ ทรายที่ดูดขึ้นมาจากท้องทะเล โดยเรือดูดทราย ( DREDGER ) จะถูกส่งผ่านตะแกรงร่อนพร้อมล้างทราย และคัดแยกสิ่งแปลกปลอมออกจากทราย ซึ่งทรายที่ผ่านการล้าง และผ่านตะแกรงร่อนแล้ว จะถูกส่งต่อไปยังท้องของเรือขุด เมื่อดูดทรายจากทะเลจนเต็มลำ เรือดูดทรายจะขับเคลื่อนด้วยตัวเอง และส่งไปยังเรือพ่นทรายที่จอดรออยู่บริเวณอ่าวพัทยา ห่างจากชายฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อทำการพักชั่วคราวก่อนที่จะมีการพ่นทรายบนพื้นที่ชายหาดที่ปิดกั้นแนวไว้ในระยะ 300 เมตร ก่อนทำการเกลี่ยและบดอัดหน้าทราย ก่อนคืนสภาพให้มีความกว้างตามรูปแบบที่กำหนด โดยปฏิบัติตามมาตราการสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด

หลังจากการฟื้นฟูบูรณะชายหาดพัทยาเสร็จสิ้น ชายหาดพัทยาเหนือจรดใต้จะมีขนาดหาดทรายกว้าง 35 เมตร โดยมีพื้นที่กันชน (Buffer Zone) เพื่อป้องกันพายุหรือคลื่นที่รุนแรงมากกว่าปกติและใช้เป็นแนวเฝ้าระวังเตือนการบำรุงรักษาชายหาดกว้างประมาณ 15 เมตร ทำให้ชายหาดพัทยาสามารถกลับมาสวยงามและสามารถใช้เป็นพื้นที่สันทนาการได้เช่นเดิม จากผลการศึกษาพบว่า การดำเนินโครงการ ดังกล่าว มีความคุ้มค่า เงิน 1 บาทที่ลงทุนไปในการเสริมชายหาดพัทยา จะสร้างเม็ดเงินกลับคืนมาในระบบประมาณ 37 บาท

หากประชาชนท่านใดต้องการข่าวสารโครงการ มีข้อสงสัย ปัญหา หรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์โครงการฯ บริเวณริมชายหาดพัทยาใต้หน้าทางเข้า Walking Street หรือติดต่อ ผ่านสายด่วน 088-256-3482 และ www.pattayabeachfill.com