ท้องวัยทีนตัวเลขพุ่ง ผนึก 5 กระทรวง ลดปัจจัยคุกคามระยะยาว

47

ปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุน้อยที่ยังขาดความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ วุฒิภาวะ และเศรษฐกิจ และเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะทีอัตราเกิดของประชากรมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้มี “การเกิดน้อย แต่ด้อยคุณภาพ” ซึ่งปัจจุบัน อัตราการคลอดของแม่วัยรุ่น (อายุ 10-19 ปี) ต่อประชากรหญิงช่วงวัยเดียวกัน 1,000 คน มีอัตรา 42.5 ต่อ 1,000 คน

สอดคล้องกับข้อสรุปที่สำคัญของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) คือ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัจจัยคุกคามคุณภาพประชากรในระยะยาว ดังนั้น  การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนต้องบูรณาการความร่วมมือกันในทุกมิติ

ปัจจุบัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 และยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560 -2569 เพื่อการขับเคลื่อนงานอย่างบูรณาการร่วมกัน 5 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงกระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงแรงงาน (รง.)

 

โดยมีกระทรวง พม. เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนงานตามพระราชบัญญัติ ในมาตรา 9 และยุทธศาสตร์ที่ 4 โดยสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในการป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในท้องถิ่นของตนเอง ด้วยเป้าหมายร่วมกันในการลดอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่น (อายุ 10-19 ปี) ต่อประชากรหญิงช่วงวัยเดียวกัน 1,000 คน จากปัจจุบันมีอัตรา 42.5 ต่อ 1,000 คน ลดลงเหลืออัตราไม่เกิน 25 ต่อ 1,000 คน ให้ได้ในปี    พ.ศ. 2569 ภายใต้ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560 – 2569 พร้อมทั้งการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับแม่วัยรุ่นและครอบครัวในชุมชน

เมื่อเร็วๆ นี้  ที่โรงแรมอะเดรียติค พาเลซ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมสร้างสรรค์พลังบวกในเด็กและเยาวชน ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ประจำปี 2561” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศและทักษะชีวิตในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัว และชุมชน มีทัศนคติเรื่องเพศเชิงบวกเพื่อสื่อสารกับบุตรหลานได้อย่างสร้างสรรค์

อีกทั้งมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่เครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดำเนินงานป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จำนวน 15 รางวัล ได้แก่ 1) สื่อกระจายเสียง จำนวน 5 รางวัล 2) สื่อออนไลน์ จำนวน 5 รางวัล และ 3) สื่อพื้นบ้าน จำนวน 5 รางวัล โดยมีผู้ร่วมงาน รวมทั้งสิ้น 450 คน ประกอบด้วย เครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ Teen องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน

กระทรวง พม. โดย ดย. ได้ขับเคลื่อนงานด้วยการสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนในการสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN ทั้งในระดับจังหวัด 77 จังหวัด และระดับตำบล 385 ตำบล โดยแกนนำเครือข่ายฯ มีการสื่อสารรณรงค์ใน 3 รูปแบบ ดังนี้

  1.  สื่อกระจายเสียง โดยจัดรายการวิทยุ เสียงตามสาย หอกระจายข่าว อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องตลอดปี ด้วยบูรณาการความร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อจัดช่องรายการวิทยุของ สวท.จังหวัด ให้กับเครือข่ายเด็กและเยาวชน  DJ TEEN
  2. สื่อพื้นบ้าน โดยจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง
  3. สื่อออนไลน์ โดยจัดทำหนังสั้น คลิปวิดีโอ โฆษณาผ่านช่องทางเฟซบุ๊ค ยูทูป อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และพันทิป

ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล สถานศึกษา ปราชญ์ชาวบ้าน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และภาคีเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน ได้ให้ความร่วมมืออย่างบูรณาการร่วมกับ กระทรวง พม. ในการส่งเสริมสนับสนุนให้สภาเด็กและเยาวชนสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN อย่างเข้มแข็งทั่วประเทศ เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการรณรงค์ให้ความรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น  รวมทั้ง กรมประชาสัมพันธ์ที่มีส่วนร่วมในการเปิดโอกาสให้ DJ TEEN ทุกจังหวัด ได้มีช่องรายการวิทยุของตนเอง

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การรวมตัวของกลุ่มเครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN ที่ร่วมกันสร้างสื่อรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงให้วัยรุ่น มีทักษะชีวิตในการตระหนักรู้เรื่องเพศ และสร้างทัศนคติเชิงบวกให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัว และชุมชน ให้สามารถสื่อสาร ด้วยความรัก ความห่วงใย และความเข้าใจ ในเรื่องเพศกับบุตรหลานอย่างสร้างสรรค์