สวัสดีค่า หากยังจำกันได้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทาง balancemag ได้ประชาสัมพันธ์กิจกรรม งาน Happy Deathday โดยมีทีมงานผู้จัดคือ Peaceful Death องค์กรไม่แสวงผลกำไร (NGO) ที่มีความมุ่งมั่นจะรวบรวมและนำองค์ความรู้ในเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบเผยแพร่ให้กับคนในสังคมไทยได้รับรู้และเปลี่ยนความตายให้กลายเป็นเรื่องที่สามารถพูดได้ทั่วไปของคนทุกช่วงวัยค่ะ
ทาง balancemag เอง ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ขอบอกเลยว่ามีคนสนใจและเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ห้องเสวนาและห้องถ่ายทอดสดอีก 2 ห้อง เต็มแน่นจนต้องยืนกันเลยทีเดียว แสดงให้เห็นว่าคนไทยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการตายกันเยอะอย่างไม่น่าเชื่อเลยค่ะ
วันนี้ balancemag จึงนำภาพบรรยากาศในงาน Happy Deathday (โซนนิทรรศการ) มาฝากกัน ตามมาดูกันได้เลยค่า
.
.
ก้าวแรกเมื่อเข้าสู่นิทรรศการ ก็มาเจอคำถามนี้ “ทำไมคุณถึงกลัวตาย?”
เจอคำถามแรกเข้าไป หลายคนถึงกับสะอึกเลยนะคะ 55
ถัดจากคำถามแรก จะมีโลงไม้ที่ทำเปรียบเสมือนโลงศพไว้สำหรับให้ทุกคนได้ลงไปนอนเพื่อค้นหาคำตอบของการกลัวตาย ซึ่งถ้าอยากรู้เหตุผลที่คนเราไม่อยากตาย เราจะต้องลงไปนอน แล้วลืมตาขึ้นมามองด้านบน เราถึงจะเห็นเหตุผลแต่ละอย่างที่ทำให้เราไม่อยากตายค่ะ
พอลงไปนอนแล้วก็จะเห็นภาพแบบนี้
เป็นรูปแบบการจัดนิทรรศการที่เก๋ไก๋มาก ได้ทั้งซ้อมตายและได้ทราบเหตุผลของการกลัวตายไปในเวลาเดียวกันเลย และนอกจากเหตุผลในรูปแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นอีกเช่น เสียดายที่ยังไม่ได้ทำอะไรหลายอย่าง กลัวชีวิตหลังความตาย กลัวการสูญเสียตัวตน เป็นห่วงคนที่ยังอยู่ ซึ่งแต่ละเหตุผลแทงใจคนดูเหลือเกินนน 55
แต่บทสรุปสุดท้ายของการกลัวตายก็คือ ทุกคนล้วนแล้วต้องตายอยู่ดี ..
.
เราจึงต้องมาดูกันต่อว่าถ้าเราเลือกได้ก่อนตาย เราจะเลือกทางไหนให้ตัวเองกัน
ในนิทรรศการมีทางแยกที่เราจะต้องเลือก 2 ทาง อย่างตัวเราเองก่อนจะเดินมาถึงจุดนี้ก็คิดว่าอยากจะไปตามธรรมชาติ ไม่ทรมาน แต่พอเห็นคำว่า “ต้องรอด!” แล้ว รู้สึกหนักใจทีเดียว เชื่อว่าหลายๆ คน ก็อยากจะเลือกโอกาสที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง เดี๋ยวเราลองมาดูกันว่า ทั้งสองทางเลือกจะพาเราไปเจออะไร
ทางเลือกแรก ต้องรอด
เมื่อเดินเข้าไปจะพบเสียงบันทึกการพูดคุยของครอบครัวที่ถกเถียงกันเรื่องการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายว่าควรเป็นไปในแบบใด มีเสียงการโต้เถียง และความไม่พอใจเจือปนอยู่ ซึ่งหากทบทวนประสบการณ์ของแต่ละคน จะพบว่า หากผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ได้ทิ้งข้อความใดๆ ไว้ ก็มักจะทำให้ครอบครัวต้องเลือกทางที่ไม่รู้ว่าดีพอหรือเปล่าสำหรับผู้ป่วย ซึ่งญาติแต่ละคนก็มีความต้องการแตกต่างกันไม่แปลกเลยที่จะมีความบาดหมางเกิดขึ้นท่ามกลางความทุกข์ของการเจ็บป่วยของผู้ป่วยระยะสุดท้าย และในทางเลือกนี้มีการแสดงคลิป การช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยในคลิปจะเป็นหุ่นสาธิตการช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งหุ่นมีการแสดงท่าทางเจ็บปวดและทรมานจากการช่วยเหลือทางการแพทย์ที่ต้องปั๊มหัวใจเพื่อให้กลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง
.
ทางเลือกที่สอง ต้องไม่ทรมาน
เมื่อเดินเข้าไปจะพบการให้ความรู้ในเรื่องของการทำอย่างไรจึงจะตายดี ซึ่งจะช่วยบอกทั้งความหมายว่าอะไรบ้างคือการตายดี ต้องใช้เครื่องมืออะไรและมีแนวทางใดบ้างเพื่อไปให้ถึงการตายดี โดยจะเน้นให้มีการสื่อสารกันระหว่างผู้ป่วยระยะสุดท้ายและครอบครัวเพื่อหาทางออกในการตายดีที่เหมาะสมกับแต่ละคน และยังมีเครื่องมือที่ช่วยให้การพูดเรื่องความตายง่ายขึ้น นั้นคือ หนังสือเบาใจ ที่ทางผู้จัดงานได้นำมาแจกให้กับผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานทุกคน โดยหนังสือเบาใจเปรียบเสมือนพินัยกรรมชีวิต (living will) ที่จะช่วยบันทึกความต้องการเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทั้งการดูแลด้านจิตใจ ร่างกาย การเลือกผู้ที่จะตัดสินใจแทน การจัดการร่างกาย และการจัดการงานศพ ซึ่งจะช่วยให้ได้ทั้งทบทวนตัวเอง และปล่อยวางสิ่งที่มีอยู่
จบไปแล้วกับ 2 ทางเลือกที่หนักหนาสาหัสเหลือเกินว่าเราควรจะเลือกทางไหน ดังนั้นทางที่ดีและเหมาะสมกับตัวเราที่สุดก็คือทางที่เราเป็นคนเลือกเอง เราจึงควรหันมาพูดเรื่องความตายกันอย่างเปิดเผยเพื่อให้เราได้ในสิ่งที่เราต้องการ และครอบครัวหรือคนที่เรารักจะได้ไม่ต้องทุกข์ทรมานกับการไม่รู้ว่าควรเลือกทางใดถึงจะดีที่สุดให้กับเราค่ะ
.
.
นอกจากนี้ ทางผู้จัดงานยังมีการให้ข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายในงานศพ และมีการพูดถึงงานศพในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น งานศพเจ้าสาว (ผู้เสียชีวิตป่วยระยะสุดท้ายก่อนจะได้เข้าพิธีแต่งงาน) หรืองานศพคิตตี้สีชมพู (ผู้เสียชีวิตชอบคิตตี้) ซึ่งทำให้เห็นว่างานศพไม่จำเป็นต้องมีแพทเทินที่เศร้าหมอง ร้องไห้ หดหู่ แต่เราสามารถเลือกได้ด้วยตัวเองว่า อยากให้ออกมาในโทนไหน มูดอะไร และเราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายของงานด้วยตัวเองตั้งแต่ตอนที่เรายังมีชีวิต สิ่งเหล่านี้จะทำได้หากเราพูดเรื่องการตายให้เป็นเรื่องปกติ เป็นที่ยอมรับ และอาจนำความสุขมาให้ตัวเราและครอบครัวได้มากกว่าการมองว่าความตายเป็นเรื่องอัปมงคลที่ไม่ควรพูดถึง
ก่อนออกจากที่จัดนิทรรศการ เราก็ได้เห็นโปสการ์ดที่ทางทีมงานตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เขียนสิ่งต่างๆที่เราได้รับ และทางทีมงานจะนำส่งให้ถึงบ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเลยค่ะ!
นอกจากการเดินชมนิทรรศการแล้ว ในโซนนิทรรศการยังมีกิจกรรม พูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความตายทั้งในด้านพระพุทธศาสนา และด้านการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และมีอาสาสมัครรับฟังผู้เข้าชมนิทรรศการทั้งแบบกลุ่มและแบบเดี่ยวอีกด้วย ต้องบอกเลยว่าครบการให้บริการตามความต้องการของผู้เข้าชมจริงๆ
และยังมีกระดานดำให้เขียนสิ่งที่จะทำก่อนตายด้วย
และกิจกรรมสุดท้ายที่ให้ทั้งความบันเทิงและข้อคิดเตือนใจในการมองความตายให้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและพูดถึงได้ทุกช่วงวัยในโซนนิทรรศการก็คือกิจกรรม “ไพ่ไขชีวิต” เป็นกิจกรรมที่ให้ทุกท่านนั่งล้อมวง และหยิบไพ่คำถาม ขึ้นมาและแลกเปลี่ยนกันภายในวง โดยมีคำถามที่เกี่ยวกับความตาย เช่น หากพรุ่งนี้คุณตาย คุณจะขอโทษและขอบคุณใคร , สิ่งไหนที่คุณคิดว่าคุณไม่มีทางทำได้สำเร็จในชีวิตนี้อีกแล้ว หรือ ถ้าคนที่คุณรักป่วยระยะสุดท้ายคุณจะบอกความจริงหรือไม่ ซึ่งคำถามเหล่านี้แม้ว่าจะเป็นคำถามที่ดูซีเรียสและจริงจัง แต่เมื่อแลกเปลี่ยนกันในวงจริงๆ พบว่า ทั้งสนุกสนาน และได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากคนอื่นในวงที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ถือเป็นกิจกรรมที่ดีและเป็นจุดพีคอีกจุดหนึ่งของงานเลยก็ว่าได้ ซึ่งเกมไพ่ไขชีวิตมีขายภายในงานด้วยนะคะ ตัวเราเองก็แอบซื้อมาหนึ่งสำรับเหมือนกัน 55
จบไปแล้วนะคะ กับการพาทุกคนไปดูบรรยากาศในงาน Happy Deathday โซน นิทรรศการ หวังว่าทุกคนจะเต็มอิ่มและได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ จากการอ่านบทความนี้ และหากใครที่ไม่ได้ไปร่วมงาน แต่ชื่นชอบและอยากทำความรู้จักกับการตายอย่างไรให้มีความสุข ขอแนะนำให้เข้าไปติดได้ในเพจ Peaceful Death จะมีบันทึกไลฟ์สดจากการเสวนา และมีข่าวประชาสัมพันธ์การจัดงานในครั้งต่อๆ ไปค่ะ
ก่อนจบบทความนี้นะคะ ก็หวังว่าการพาทุกคนไปดูบรรยากาศนิทรรศการ Happy Deathdayน่าจะทำให้ทุกคนได้มองความตายในมิติใหม่ ที่ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด และอาจไม่ใช่เรื่องทุกข์หรือยุ่งยาก วุ่นวายอย่างที่หลายคนเคยเจอกัน หากเราเพียงแต่เตรียมพร้อมในการวางแผนเสียตั้งแต่วันนี้เพื่อให้การตายของเราเป็นไปในรูปแบบที่เราต้องการ และเป็นในแบบที่เราอยากให้คนที่เรารักจดจำตัวตนของเราก่อนจากกันค่ะ
ถ้าชื่นชม ชื่นชอบ อย่าลืมกดแชร์เพจ balancemag กันนะคะ
ขอขอบคุณ
ภาพจากคุณ Apantree Tanbuasawan (กัลยาณมิตรในงาน Happy Deathday)
Siripong Sawatsuntisuk (เอเจ.กอจอ)
และเพจ Peaceful Death