หมอประเวศ หนุนตำบลปลอดภัย ยกเคสหมูป่าเสริมรากฐานสังคม

43

เปิดวิสัยทัศน์ “หมอประเวศ”  ในเวทีประชุมวิชาการภาคประชาชนครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ ยุทธศาสตร์ตำบลปลอดภัย หัวใจการแพทย์ฉุกเฉิน”  แนะใช้ 8,000 ตำบลในประเทศไทยเป็นพื้นฐานพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน  ระบุประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศไทยได้จากส่วนกลาง พร้อมยกเคสช่วยหมูป่าเป็นโมเดลเสริมพลังท้องถิ่น

เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรภาคีเครือข่ายได้จัดเวทีประชุมวิชาการภาคประชาชนครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ตำบลปลอดภัย หัวใจการแพทย์ฉุกเฉิน  โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้กว่า 250 คน  ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เข้าร่วมเป็นประธานการจัดงานพร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาในหัว ตำบลปลอดภัย อีกด้วย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ

ชี้สถิติเมืองไทยเด็กต้องตายอย่างไม่น่าเกิดขึ้น

“ความไม่ปลอดภัยในประเทศไทยมีมากและมีมานานโดยเฉพาะอุบัติเหตุทางท้องถนนก็ทำให้คนบาดเจ็บราว 100,000 คนในทุกปี ซึ่งอุบัติเหตุทางท้องถนนทำให้เด็กเสียชีวิตในเป็นจำนวนมาก โดยประเทศอเมริกาที่เป็นประเทศที่ใหญ่มากๆ สถิติของเด็กเสียชีวิตจากอุบัติของประเทศเขาบนท้องถนนมีเพียงปีละ 11 คน แต่ประเทศไทย มีเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นร้อยๆ คน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจกับเด็กๆ จำนวนมากที่ต้องมาเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีการเสียชีวิตของเด็กๆ จากการจมน้ำอีกเป็นจำนวนมาก และประเทศเรายังมีการเสียชีวิตของคนไทยจากสาเหตุอื่นอีกมากไม่ว่าจะเป็นการปล้นจี้ ฆ่า ข่มขืน ซึ่งการแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จากส่วนกลางไม่สามารถแก้ได้เพราะความห่างไกล ซึ่งประเทศไทยเราเป็นประเทศที่รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง”

เคสหมูป่าสะท้อนพลังแห่งน้ำใจไทย

“เราจะเห็นว่ากรณีของการช่วยเหลือเด็กๆ ทีมหมูป่าที่ติดถ้ำจนสำเร็จได้นั้น ไม่ได้เกิดส่วนกลาง แต่เกิดจากการจัดการของคนในพื้นที่ เพราะคนในพื้นที่เป็นคนที่เผชิญกับสถานการณ์จริง และเหตุการณ์การช่วยเหลือเด็กๆ ทีมหมูป่าติดถ้ำ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคนไทยเป็นคนดี ทุกคนมีน้ำใจอยากช่วยเหลือและพร้อมสละประโยชน์ส่วนตนและก้าวข้ามการแบ่งแยกทุกชนิด  คนไทยเป็นคนดีเป็นคนมีน้ำใจ แต่มีมายาคติที่ทำให้รู้สึกว่าคนไทยเป็นคนไม่ดี เนื้อแท้ของคนไทยนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าขึ้น การเป็นคนดีจึงออกมาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์”

หนุนโมเดลตำบลปลอดภัยเสริมแกร่งจากฐานราก

“ถ้าเราใช้ตรงนี้ช่วยกันพัฒนาประเทศไทยของเราในทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทำจากข้างล่าง เราจะช่วยกันสร้างประเทศไทยที่ปลอดภัยและจะเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก คนไทยต้องร่วมมือกัน ดังนั้นจุดยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ความปลอดภัยเกิดขึ้นนั้นจึงอยู่ที่ตำบล เพราะตำบลในประเทศไทยมีกว่า 8,000 ตำบลแ ละในแต่ละตำบลก็มีอยู่ประมาณ 10 หมู่บ้าน ตรงตำบลนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์เพราะมีองค์กรของรัฐที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดคือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล และเป็นสถานที่ที่คนจะรวมตัวกันได้ ดังนั้นยุทธศาสตร์ตำบลปลอดภัยนั้น อบต. หมออนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้นำชุมชนซึ่งสามารถรวมตัวกันแล้ววางเป้าหมายการทำงานของแต่ละตำบลให้ชัดเจนได้ว่า จะไม่มีการจี้ ฆ่า ปล้น ข่มขืน จะไม่มีเด็กจมน้ำตาย และจะไม่มีอุบัติภัยทางถนน”

สร้างอาสาสมัครรับภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์

“หากมีปัญหาฉุกเฉินในเรื่องของการแพทย์ เราก็จะต้องมีอาสาสมัครที่ฝึกไว้ที่ช่วยชีวิตคนได้ เช่น กรณีของโรคหลอดเลือดสมอง ถ้าเราสามารถช่วยชีวิตได้เร็ว ก็สามารถรอดได้ ถ้าเรารวมตัวกันทำแบบนี้แล้ว องค์กรอื่นก็ช่วยกันหนุนให้แต่ละตำบลให้เกิดความเข้มแข็งและปลอดภัยได้จริง เราก็จะเสนอให้มีสถาบันรับรองคุณภาพตำบลด้วย ซึ่งหากตำบลปลอดภัยจริงเราก็ประกาศรับรอง คิดว่ายุทธศาสตร์ตรงนี้เราน่าจะทำได้ถ้าเข้าใจและช่วยกัน”

คนข้างล่างคือพลัง อย่ารอความหวังอำนาจจากส่วนกลาง

“เราต้องให้บทบาทกับคนในพื้นที่ คนข้างล่าง คนที่สร้างพระเจดีย์จากฐาน ประเทศไทยต้องสร้างพระเจดีย์จากฐาน สร้างจากยอดไม่ได้มันยาก เพราะข้างบนมีทั้งเรื่องอำนาจ เรื่องกฎหมาย เรื่องเงิน มายาคติเรื่องความฉ้อฉล แต่ข้างล่างมันเป็นการอยู่ร่วมกัน เราต้องให้ความสำคัญกับข้างล่าง และให้กำลังใจกับคนข้างล่าง คนข้างล่างต้องเป็นคนมีเกียรติ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่มีเกียรติประเทศก็จะไม่แข็งแรง ซึ่งระบบการศึกษาในประเทศเรา ทำให้คนส่วนน้อยมีเกียรติและทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีเกียรติเพราะไปให้ความสำคัญกับความรู้ในตำราที่คนทุกคนมีความรู้ในตัวจากประสบการณ์ชีวิต เราต้องเคารพความรู้ในตัวคนเราต้องให้เกียรติเหล่าคนเล็กคนน้อย ประเทศเราถึงจะเกิดพลังแผ่นดินในการขับเคลื่อนต่อ”

เชิญชวนทุกคนร่วมขับเคลื่อนระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

“เรื่องการแพทย์ฉุกเฉินนั้นเป็นเรื่องความเป็นความตายของคนที่เราต้องช่วยให้เร็ว เพราะถ้าช้ามันจะไม่ทันการณ์ ซึ่งความเป็นความตายนั้นมันสื่อสารได้ง่ายเพราะคนเห็นภาพ ที่จริงปัญหานั้นมากกว่าเรื่องหมูป่าเยอะ เหมือนคนไทยทั้งประเทศติดอยู่ในถ้ำแต่คนไม่รู้ ทีนี้เราก็อาศัยเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินเป็นตัวนำไปสู่เรื่องอื่นทำให้องค์กรต่างๆ เข้ามาสนใจได้ง่ายและจะเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นได้ เราต้องมาช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพองค์กรวมร่วมกันทุกคนต้องมาช่วยกันและต้องเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนร่วมกัน”

ทั้งนี้ในเวทีกาประชุมครั้งนี้ ยังมีวิสัยทัศน์จาก  นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งระบุว่า การประชุมการแพทย์ฉุกเฉินเครือข่ายภาคประชาชนระดับชาติ ครั้งนี้เป็นความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาชน ตำบลปลอดภัยเป็นมิติของพื้นที่แต่เป็นยุทธศาสตร์ของการขับเคลื่อนเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อที่จะให้ลดการเกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินของคนไทย ซึ่งภาวะฉุกเฉินของคนไทยนั้นเป็นสาเหตุหลักที่จะทำให้ประชาชนเสียชีวิตและพิการที่เกิดมากขึ้นในแต่ละปี

เผย 4 โรคหลักคร่าชีวิตคนไทยกว่า 4 แสนรายต่อปี

“ปี พ.ศ. 2560  คนไทยเสียชีวิตมากถึง 460,000 ราย ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินจาก 4 โรคหลัก คือ โรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน และอุบัติเหตุบนท้องถนนซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15-20 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด”

สลดผู้พิการจากอุบัติเหตุ-โรคร้าย ยังพุ่งสูง

“นอกจากนั้น เรายังมีผู้พิการเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ปีละประมาณ 1 แสนคน ซึ่งในจำนวนผู้พิการที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นผู้พิการแต่กำเนิดน้อยมาก แต่กลับเป็นผู้พิการที่เกิดจากอุบัติบนท้องถนนและโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันที่ทำให้เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ในจำนวนที่มากจนน่าตกใจ”

ย้ำชัด การแพทย์ฉุกเฉินคือทางออก

“หากว่าเราสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงการป้องกันการเกิดภาวะฉุกเฉิน สามารถร่วมมือร่วมใจกันตั้งแต่ระดับประชาชนภาครัฐภาคเอกชนหนุนเสริมกันสร้างความปลอดภัยทั้งวัด โรงเรียน โรงงาน เส้นทาง  เทศกาล หรือการจัดประชุมทั้งหลาย ถ้าหากสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีความปลอดภัยเราจะลดการเสียชีวิตและการพิการของประชาชนได้ ในขณะเดียวกันเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินขึ้นทำอย่างไรประชาชนถึงจะมีความรู้ที่จะทำให้สามารถปฐมพยาบาลได้ กู้ชีพเบื้องต้นได้ สามารถใช้เครื่อง AED ได้และสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินเป็น ซึ่งระหว่างที่รอรถพยาบาลมานั้นถ้าประชนมีความรู้ก็จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุลงได้”

นี่คือวิสัยทัศน์และข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงในเมืองไทย และเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะทรัพยากรมนุษย์คือสิ่งที่มีค่า คุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร คือ สัญญานที่บอกว่า ประเทศนั้นๆ ได้รับการพัฒนาอย่างแท้จริงหรือไม่ โดยการจัดประชุมในครั้งนี้ยังได้ตัวแทนจากหลากหลายหน่วยงานได้ร่วมกันวางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างตำบลที่ปลอดภัยเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนร่วมกัน รวมถึงยังมีกิจกรรมและเวทีเสวนาวิชาการ และการจัดแสดงผลงานของต้นแบบตำบลปลอดภัยหลากหลายพื้นที่ร่วมด้วย