Today’s Life Crafts  “SACICT” โชว์เบญจรงค์ยุคใหม่ โชว์ก็ได้ ใช้ก็เก๋

220

ด้วยความละเมียดละไม ความงามอันทรงคุณค่าของศิลปะชั้นสูงอย่างเบญจรงค์ ทำให้ที่ผ่านมา งานศิลปะหัตถกรรมประเภทนี้ นิยมใช้ในโอกาสสำคัญ หรือเพื่อการสะสม ของขวัญ และการตั้งโชว์ แต่วันนี้แนวคิดของเบญจรงค์ไทย ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ได้เกิดขึ้นแล้ว ด้วยภารกิจของ SACICT ในการสืบสาน ต่อยอด และพัฒนา งานศิลปหัตถกรรมไทย ให้คงอยู่ พร้อมการขยายตลาดในเชิงพาณิชย์  

คุณแสงระวี สิงหวิบูลย์

ล่าสุด ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดกิจกรรมเปิดตัวผลงานเบญจรงค์ไทยในมุมมองใหม่ ปีที่ 2 (SACICT Signature Collection 2018) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เบญจรงค์ของไทยสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันในแบบ Today’s Life Crafts และเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ – 9 กันยายน 2561 ที่อาคารดูจิตแล้วอะไรก็ช่าง/ ช่างชุ่ย

คุณแสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า “เบญจรงค์” เป็นงานศิลปหัตถกรรมไทยชั้นสูงที่เปี่ยมด้วยเรื่องราวและคติความเชื่อที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยในแต่ละยุคสมัยมายาวนาน และจากความสำเร็จของ SACICT Signature Collection ในปีที่ผ่านมา ที่มุ่งเน้นการนำแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ควบคู่กับการต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพื่อให้เบญจรงค์ของไทยสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันในแบบ Today’s Life Crafts

ในปีนี้ SACICT ได้ดำเนินโครงการโดยเน้น 3 หัวข้อหลัก คือ การสร้างความตระหนักในคุณค่าของเบญจรงค์ การพัฒนารูปแบบเบญจรงค์เพื่อตอบสนองการใช้งานในวิถีชีวิตปัจจุบัน และการเชื่อมโยงเครือข่ายเบญจรงค์ไทยสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ เรายังมุ่งเน้นสร้างความภูมิใจในการพัฒนาเบญจรงค์ไทยให้มีความยั่งยืน ทั้งยังคงรักษาเอกลักษณ์บนความประณีตงดงามผสมผสานความร่วมสมัย เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตปัจจุบันได้อย่างลงตัว

SACICT Signature Collection 2018 เป็นการทำงานร่วมกันของ 11 ชุมชนช่างเบญจรงค์และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมเครื่องเบญจรงค์ชื่อดังจากทั่วประเทศ ได้แก่ อุไร แตงเอี่ยม จาก อุไร เบญจรงค์ บ้านดอนไก่ดี (สมุทรสาคร) แดงเบญจรงค์ บ้านดอนไก่ดี (สมุทรสาคร) บ้านเบญจรงค์ แกลเลอรี (มหาสารคาม) ศ.หลังสวนเบญรงค์ (ชุมพร) กันตะเบญจรงค์ (สมุทรสาคร) ศรีกุญชรเบญจรงค์ (สมุทรสงคราม) บ้านเบญจรงค์บางช้าง (สมุทรสงคราม) บุญญารัตน์เบญจรงค์ (กรุงเทพฯ) และไทยเบญจรงค์ (ชลบุรี) ภายใต้การออกแบบของ 6 ดีไซเนอร์ไทย ได้แก่ เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา, ธนวัฒน์ คล่องวิชา, ประพันธ์พงษ์ สุขแสวง, กมลชนก ภาณุเวศย์, วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ และ กรกต อารมณ์ดี โดยผลงานทั้ง 11 คอลเล็กชั่นจะนำมาจัดแสดงใน 6 แนวคิด ดังนี้

  1. Memoires: ผลงานของคุณพนิดา แต้มจันทร์ กลุ่ม ศ.หลังสวนเบญจรงค์ (ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2557) ออกแบบโดยคุณเอ็มโซเฟียน เบญจเมธา ภายใต้แนวคิด “บทสนทนาระหว่างหน่วยทรงจำในรากเหง้า” การโคจรมาพบกันระหว่างรากแห่งวิถีศิลปหัตถกรรมและวัฒนธรรมต่างถิ่น อย่างการนำดินปั้นเบญจเมธาจากปัตตานีมาผสมผสานเข้ากับเบญจรงค์ไทยสายเลือดชุมพร ก่อเกิดสัมพันธภาพ ความงามระหว่างเส้นสายรูปทรง และจารีตที่กลมกลืน
  2. To be continued: ผลงานของคุณรัชนี ทองเพ็ญ (แดงเบญจรงค์) และคุณวิรัช ทะไตรเนตร (บ้านเบญจรงค์แกลเลอรี) ออกแบบโดยคุณธนวัฒน์ คล่องวิชา ภายใต้แนวคิด “โปรดติดตามตอนต่อไป” ผ่านเรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่น เปรียบเทียบเบญจรงค์ไทยเป็นของที่ระลึกและของแต่งบ้าน ผ่านบทสนทนาของคนในแต่ละยุคสมัย เชื่อมโยงเข้าสู่วิถีชีวิตปัจจุบันที่เบญจรงค์สอดประสานเข้ากับวิถีชีวิตประจำวันอย่างไม่ขัดเขิน
  3. Blooming : ผลงานของคุณบุญญารัตน์ ลิ้มวัชราวงศ์ (บุญญารัตน์เบญจรงค์) ออกแบบโดยคุณประพันธ์พงษ์ สุขแสวง ภายใต้แนวคิดในการนำเสนอความหลงใหลที่มีต่อลวดลายไทยที่มี “ดอกไม้” เป็นองค์ประกอบ เช่น ลายจักรี ลายพิกุล และลายบัวสวรรค์ หยิบยกมาตีความใหม่ให้เป็นลวดลายที่มีความร่วมสมัย เพื่อให้เกิดมุมมองที่แตกต่างในการนำเสนอเบญจรงค์ไทยสู่ความเป็นสากล
  4. The new experiment : ผลงานของคุณนุชสรา-สิทธิพงษ์ อ่อนเทศ (กันตะเบญจรงค์) ออกแบบโดยคุณกมลชนก ภาณุเวศย์ ภายใต้แนวคิดที่เกิดจากการศึกษาประวัติศาสตร์และรูปแบบของเบญจรงค์ไทย ไม่ว่าจะเป็น แพทเทิร์น จังหวะ และการซ้ำในลวดลาย นำมาปรับใช้กับการออกแบบที่เชื่อมโยงสู่วิถีชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่มากขึ้น
  5. Tableware: ผลงานของคุณณัฐภาวรรณย์ แตงเอี่ยม (ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2558) คุณธนวรรธน์ ชยุทวาณิชกุล (บ้านเบญจรงค์บางช้าง) เครื่องเคลือบศิลาดล และ คุณจิระพงษ์ เดชรัตน์ (เบญจรงค์เซราพอน) ออกแบบโดยคุณกรกต อารมณ์ดี ภายใต้แนวคิดในการเปลี่ยนบริบทของเบญจรงค์จากที่เคยเป็นของขวัญและของชำร่วย นำมาออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีความแปลกใหม่และร่วมสมัย
  6. จุดเริ่มของเบญจรงค์ : ผลงานของคุณหัสยา ปรีชารัตน์ (ไทยเบญจรงค์) ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2560 คุณสรัญญา สายศรี ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2557 และคุณพิษณุ แก้วกุญชร (ศรีกุญชรเบญจรงค์) ภายใต้แนวคิดจุดเริ่มของ “เบญจรงค์” ที่ได้รับการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของเมืองไทย ผ่านการจำลองการเดินทางขอเบญจรงค์ในสมัยอยุธยา เพื่อนำเสนอเป็นผลงานหลากชุดที่เล่นสนุกกับการทำงานดินเผาที่แตกต่างจากวัสดุอื่นๆ กรรมวิธีการทำ และนำไปสู่เบญจรงค์ไทยยุคใหม่ที่น่าสนใจมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ‘คุณเพ็ญศิริ ปันยารชุน’ ผู้จัดการสายงานยุทธศาสตร์ SACICT  ‘คุณสมชัย ส่งวัฒนา’ Imaginator ช่างชุ่ย ครีเอทีฟ ปาร์ค ‘คุณศักดิ์ชัย กาย’ ประธานกรรมการบริหาร/ บรรณาธิการอำนวยการนิตยสารลิปส์ ‘คุณณภาภรณ์ โพธิรัตนังกูร’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมบัติเลิศ จำกัด ร่วมชมนิทรรศการ

ภายในงานยังจัดให้มีกิจกรรมเชื่อมโยงสู่วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ได้อย่างลงตัว โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ช่วง เริ่มต้นด้วยกิจกรรม “Cooking with Craft” ตื่นตาเพลินใจไปกับการตกแต่งอาหารด้วยเบญจรงค์ไทยในแบบ Eat meet Art โดย ‘คุณก้อง’ โกสินธุ์ วัฒกีเจริญ เจ้าของร้าน “Dijaras” (ดิษจรัส) ที่ร่วมครีเอตเมนูให้เข้ากับเครื่องเบญจรงค์ของไทย ผ่านฝีมือการปรุงอาหารของ ‘คุณวอร์ม’ กฤตพรต ก๋าแก้ว และ ‘ก้อย’ จันทร์รัตน์ ตั้งกุลพานิชย์ เชฟชื่อดังจากร้าน “หย่อนญาณ” ปิดท้ายด้วยบรรยากาศผ่อนคลายไปกับการจิบกาแฟยามบ่ายในแบบศิลปะลาเต้ (Latte Art) ในเบญจรงค์ โดยคุณสุเมธ พัฒนเกรียงไกร ณ ร้าน The’ Tea House

SACICT Signature Collection 2018 พร้อมให้คนไทยได้สัมผัสกับนิยามใหม่ของเบญจรงค์ไทยได้ตั้งแต่วันที่ 6-9 กันยายน 2561 ณ อาคารดูจิตแล้ว อะไรก็ช่าง ช่างชุ่ย ถ.สิริธรกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 11.00-23.00 น. (หยุดทำการทุกวันพุธ) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1289 หรือ www.facebook.com/sacict