นิ้วล็อค เรื่องที่ไม่ตลก ป้องกันไว้ก่อน ติดแข็งจนใช้งานไม่ได้ 

63

ด้วยยุคสมัยที่โทรศัพท์มือถือกลายเป็นมือที่ 3 ที่เหมือนจะงอกออกมาจากมือข้างใดข้างหนึ่งของเรา เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้โรคเกี่ยวกับมือและนิ้วพบได้สูงขึ้น แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุเดียวของอาการ “นิ้วล็อค” แต่เอ๊ะ! แล้วโรคนี้ คืออะไร แบบไหนถึงจะเรียกว่านิ้วล็อค แล้วนอกจากการใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ แล้ว ใครบ้าง ที่มีโอกาสเป็นโรคนี้ วันนี้จึงมีข้อมูลและคำแนะนำที่น่าสนใจของ นพ.ไชยยันต์ ประชาศิลป์ชัย โรงพยาบาลธนบุรี 2 มาฝากกัน

นพ.ไชยยันต์ ประชาศิลป์ชัย

นพ.ไชยยันต์  อธิบายว่า โรคนิ้วล็อค เป็นโรคที่พบบ่อยในช่วงวัยทำงานจะมีอาการปวด ติดขัด หรือสะดุดเวลาเคลื่อนไหวนิ้วมือ ซึ่งอาจเป็นเพียงน้ำเดียวหรือเป็นหลายนิ้วในระยะแรกจะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ กำมือเหยียดนิ้วมือจะรู้สึกขัดโดยเฉพาะตอนเช้าตอนเช้าหลังตื่นนอน พอใช้มือไปสักพักก็จะกำแบมือได้ดีขึ้น ต่อมาจะมีอาการนิ้วล็อค เมื่อเป็นมากขึ้นจะต้องใช้มืออีกข้างเพื่อเหยียดนิ้วออกจากการล็อคในรายที่เป็นรุนแรงจะมีการข้อบวมติดเหยียดนิ้วได้ไม่สุด ติดแข็งจนใช้งานไม่ได้

สาเหตุ เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วมือจากการใช้งาน เช่น หิ้วของ ทำงานบ้านล้างจานซักผ้า หรือผู้ที่ทำงานกับแป้นพิมพ์ เขียนงานเอกสาร หรือผู้ที่มีอาชีพคนสวนใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ช่างที่ใช้ไขควงหรือเลื่อย นักกอล์ฟ นักยูโด เมื่อมีอาการอักเสบของเปลือกหุ้มเส้นเอ็นจะเกิดการบวมและหนาตัว จึงรู้สึกเจ็บและนิ้วล็อคตามมา

การรักษา ประกอบด้วย

  • พักการใช้งาน ลดกิจกรรมที่ใช้มือให้น้อยลง
  • การใส่อุปกรณ์ตามนิ้วมือให้อยู่ในท่าเหยียด ขณะนอนหลับ
  • การแช่น้ำอุ่นหรือประคบอุ่นและออกกำลังกายยืดเหยียดนิ้วมือ
  • ยาแก้ปวด ลดการอักเสบของเปลือกหุ้มเส้นเอ็น ถ้าอาการชา ไม่ทุเรา อาจพิจารณาการฉีดยา สเตียรอยด์เฉพาะที่แต่ไม่ควรฉีดเกิน 2 ครั้ง การผ่าตัดจะทำในรายที่เป็นรุนแรง หรือ ไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้น

ทั้งนี้คุณหมอยังได้แนะนำวิธีลดความเสี่ยงการเป็นนิ้วล็อค เพื่อให้ทุกคนได้ระมัดระวังไว้ ดังนี้

  1. ไม่หิ้วของหนักเกินไป ถ้าจำเป็นต้องหิ้วให้ใช้ผ้าขนหนูรอง และหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ อาจใช้วิธีการอุ้มประคองหรือรถเข็นลากแทน เพื่อลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือ
  2. ควร ใส่ถุงมือ หรือห่อหุ้มด้ามจับเครื่องมือให้นุ่มขึ้นและจัดทำขนาดที่จับเหมาะแก่การใช้งานขณะใช้เครื่องมือทุ่นแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ฯลฯ
  3. งานที่ต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่องทำให้เมื่อยล้า หรือระบม ควรพักมือเป็นระยะๆและออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือบ้าง
  4. ไม่ขยับนิ้วหรือดีดนิ้วเล่น เพราะจะทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น
  5. ถ้ามีข้อมือฝืดตอนเช้า หรือมือเมื่อยล้า ให้แช่น้ำอุ่นร่วมกับการขยับมือกำแบเบาๆในน้ำ จะทำให้ข้อฝืดลดลง

โรคนิ้วล็อค ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง แต่จริงๆ แล้ว ด้วยภารกิจ และการดำเนินชีวิตประจำวันของใครหลายคน อาจจะทำให้เกิดโรคนี้ ซึ่งนำมาทั้งความเจ็บปวด ติดขัดต่อการทำงาน หรือรุนแรงจนทำให้นิ้วไม่สามารถใช้งานได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังและป้องกันไว้ก่อนเป็นการดี