พยากรณ์โรครายสัปดาห์ เตือนภัยติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV

76

ฤดูฝนและฤดูหนาว เป็นช่วงการเกิดโรคหลายชนิด รวมทั้งโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) และ โรคปอดอักเสบ โดยกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เป็นแล้วจะมีอาการที่รุนแรง โดยการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าจะยังพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี จึงมีประกาศเพื่อออกเตือนเพื่อการดูแลป้องกันตัวเอง

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ข้อมูลเชื้อก่อโรคปอดอักเสบรุนแรงใน 30 รพ. โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างปี 2555–2559 พบว่าในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่มาด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรง 425 ราย มีการป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ร้อยละ 44 (187 ราย) ตรวจพบเชื้อมากในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และเสียชีวิต 9 ราย  ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มาด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรง 97 ราย มีการติดเชื้อฯ 4 ราย (คิดเป็นร้อยละ 5) และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย  สำหรับในปี 2561 ข้อมูลการเฝ้าระวังโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2561) พบว่าผู้ป่วยที่มาด้วยอาการระบบทางเดินหายใจในโรงพยาบาล 9 แห่ง พบในกลุ่มผู้ป่วยทางเดินหายใจ 620 ราย ผลต่อเชื้อ RSV 65 ราย (ร้อยละ10) และมีการตรวจพบเชื้อสูงขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม(ร้อยละ 29) และสิงหาคม(ร้อยละ 47)”

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ (วันที่ 9-15 ก.ย.2561) คาดว่าในช่วงนี้จะยังพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV)  เนื่องจากโรคนี้มักพบในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ  เชื้อไวรัส RSV ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ติดต่อโดยการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ

โดยปกติผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะมีอาการตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก   เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจเร็ว หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบ รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง   การวินิจฉัยทำได้โดยตรวจหาเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่งในจมูก การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่าประชาชนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้โดยการล้างมือให้สะอาด ล้างมือบ่อยๆ เช่น ก่อนมื้ออาหาร หลังเข้าห้องน้ำ เป็นต้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือปอดอักเสบ โดยเฉพาะไม่ควรให้เด็กที่คลอดก่อนกำหนดและทารกในช่วงอายุ 1-2 เดือนแรกสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการนำมือที่ไม่สะอาดมาป้ายจมูก ไม่ควรใช้แก้วน้ำร่วมกัน  หากมีอาการป่วยควรหยุดพัก โดยเฉพาะนักเรียน และควรปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม ถ้าผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422