วิศวะ จุฬาฯ เปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

84

รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นใกล้ตัวไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างกว้างขว้าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาด้วยเช่นกัน โดยทางคณะฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาและให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ล่าสุดได้ร่วมกับมูลนิธิ อรุณ สรเทศน์ และสมาคมนิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้ง ‘ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์ อรุณ สรเทศน์’ ภายใต้ความพร้อมในการสร้างสรรค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศและภูมิภาค ทั้งในด้านทรัพยากรบุคคล อาทิ คณาจารย์ นักวิจัย และนิสิต นักศึกษา

รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล

โดยคาดว่าศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์ อรุณ สรเทศน์ จะกลายเป็นหน่วยปฏิบัติการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมอันดับหนึ่งของประเทศไทยและระดับแนวหน้าของโลก ที่มีเครื่องมือวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งมีเป้าหมายในการตรวจวัดมลพิษทุกชนิดที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ดิน อากาศ และของเสียอันตราย ทั้งที่ปรากฎในมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม และไม่ปรากฎแต่ได้รับความสนใจในระดับนานาชาติซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับประเทศไทยในอนาคต โดยเบื้องต้นมีความต้องการงบประมาณในการดำเนินการประมาณ 90 ล้านบาท

“นอกจากนี้ยังต้องการให้เป็นศูนย์ทดสอบและวิจัยด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ที่มีมาตรฐานระดับสากล มีเครื่องมือตรวจวัดและวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงเสริมสร้างงานวิจัยขั้นสูงที่สามารถตรวจวัดค่าพารามิเตอร์ของมลพิษต่างๆ ที่มีความซับซ้อนที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ดิน และอากาศ จะทำให้สามารถนำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็นและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น และจะเป็นหน่วยงานวิชาการที่เป็นกลางในการช่วยยุติหรือลดการขัดแย้งให้แก่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมภาครัฐ และภาคประชาสังคม ที่มีความเข้าใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน” รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล กล่าว

ทั้งนี้การดำเนินงานของโครงการฯ ในเบื้องต้นจะจัดหาเครื่องมือวิจัยที่จะรองรับอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ 3 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี อุตสาหกรรมอาหารและสุขภาพ และอุตสาหกรรมพลังงานอิเล็กทรอนิกส์ โดยเครื่องมือวิจัยดังกล่าวจะกลายเป็นเครื่องมือขั้นสูงที่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ ซึ่งในระยะต่อไปได้วางแผนขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นเพิ่มเติมต่อไป

“โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่สามารถกำหนดแนวทางหรือนโยบายการจัดการมลพิษให้กับประเทศ ลดข้อพิพาทระหว่างภาคประชาชนกับภาคอุตสาหกรรม ในกรณีที่เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องการการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ลดผลกระทบจากมลพิษที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรรมที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีในการจัดการมลพิษให้กับองค์กร ที่จะสามารถลดต้นทุนการจัดการมลพิษ รวมถึงยกระดับการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล กล่าวสรุป

ในเบื้องต้น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์ อรุณ สรเทศน์ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ อรุณ สรเทศน์ 5 ล้านบาท คณะวิศวกรรมศาสตร์ 5 ล้านบาท และภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม 5 ล้านบาท รวม 15 ล้านบาท โดยยังมีความต้องการทุนในการจัดตั้งอีก 75 ล้านบาท จึงขอเรียนเชิญทุกภาคส่วนร่วมสนับสนุน โดยสามารถโอนเงินเข้าบัญชี 1.ธนาคารกรุงเทพ   สาขาจามจุรีสแควร์ เลขที่ 939-0-10892-7 2.ธนาคารกสิกรไทย  สาขาจามจุรีสแควร์  เลขที่ 630-2-37158-8  3.ธนาคารไทยพาณิชย์    สาขาสภากาชาดไทย   เลขที่ 405-4-13788-7 และแจ้งโอนเงินพร้อมทั้งชื่อ-ที่อยู่มาที่ email : cu.labaroon@gmail.com