เป็นข่าวรายวันและเป็นภาพที่คุ้นตาในสังคมไทย กับปัญหาความรุนแรงในสังคม โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวที่ยังมีทีท่าที่น่าเป็นห่วงยิ่งนัก เพราะส่วนใหญ่เหยื่อของการถูกทำร้าย ทั้งด้านร่างกาย วาใจ หรือจิตใจ ก็คือเด็กและสตรี ผู้ที่ถูกตีตราว่าอ่อนแอกว่า และต้องทนช้ำชอกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงอยู่ร่ำไป แม้จะเป็นเรื่องขึ้นเป็นประจำในสังคมไทย แต่เราก็ไม่อยากให้ใช้คำว่า “เคยชิน” กับมัน และยังมีหน่วยงานที่เดินหน้าสางปัญหาเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
ไม่นานมานี้ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัวโดยชุมชนเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว และการแลกเปลี่ยนกลไกชุมชนยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว
ทั้งนี้ ได้มีเวทีเสวนาทางออก “พื้นที่ปลอดภัยในชุมชน เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมเสวนา ประกอบด้วย นางพัชรี อาระยะกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มุลนิธิหญิงชายก้าวไกล และ นางจิตรลดา ถนอมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ดำเนินรายการโดย นายธนชัย อาจหาญ ผู้จัดการสำนักเชื่อมโยงขบวนองค์กรชุมชนและภาคี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) ซึ่งการสัมมนาดังกล่าว เป็นความร่วมมือ ระหว่าง กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) พม. ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และ สสส.
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี 2559 มีเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรงเข้ารับบริการเฉลี่ยวันละ 55 ราย และปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 58 ราย และจากรายงานของศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม.พบว่า ปี 2560 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรง 2,870 ราย เป็นความรุนแรงในครอบครัว 1,850 ราย หรือร้อยละ 64.46 และความรุนแรงนอกครอบครัว 1,020 ราย หรือร้อยละ 35.4 ซึ่งผู้ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นสตรีและเด็ก
สาเหตุที่นำไปสู่การกระทำความรุนแรง คือ การมีความคิดว่า ตนเองเหนือกว่า ใช้อำนาจกับผู้ที่ด้อยหรืออ่อนแอกว่าได้ ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดความรุนแรง ได้แก่ จากสัมพันธภาพที่ไม่ดีในครอบครัว สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย การใช้สารเสพติด มีปัญหาสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต หรือครอบครัวมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การว่างงาน ความยากจน ทำให้เกิดความเครียด
“ที่ผ่านมากรมกิจการสตรีฯ มีโครงการที่ช่วยแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อสตรี และในครอบครัว มี 6 ชุมชนนำร่อง 6 เขต คือ 1.ชุมชนสวนอ้อย เขตคลองเตย 2.ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ 3.ชุมชนริมคลองบางซื่อรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง 4.ชุมชนประดิษฐ์โทรการ เขตจตุจักร 5.ชุมชนหลังโรงกรองน้ำภาษีเจริญ เขตบางกอกใหญ่และ 6.ชุมชนหน้าวัดโคนอน เขตภาษีเจริญ และในพื้นที่ต่างจังหวัดสนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) จัดกิจกรรมส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัว รวมทั้งเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทั้งยังส่งเสริมการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างชุมชนต้นแบบ ให้ชุมชนมีกลไกเฝ้าระวังดูแลช่วยเหลือ ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในเบื้องต้น รวมทั้งผลักดันการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งในครอบครัว และพื้นที่สาธารณะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายเลิศปัญญา กล่าว
ทางด้าน นางสาวอังคณา อินทสา กล่าวว่า มูลนิธิฯได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จัดทำโครงการพัฒนาและเสริมศักยภาพระบบการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัวโดยชุมชนเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก ผู้หญิง และครอบครัว สู่ปีที่ 4 เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่คุ้มครองทางสังคมหรือ พื้นที่ปลอดภัยทางสังคม เน้นฐานการทำงาน คือ มองเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนรวมของทุกคน เกิดศูนย์ประสานและแกนนำชุมชนคอยช่วยเหลือเด็ก สตรีและครอบครัว รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ ขยายชุมชนเครือข่ายใกล้เคียงและทีมสหวิชาชีพให้ปฏิบัติงานได้จริง ต่อเนื่อง
สำหรับการดำเนินงานในโครงการฯ ของแกนนำชุมชนร่วมกับทีมสหวิชาชีพ 4 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ ชุมชนบ้านคำกลาง ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ชุมชนซอยพระเจน เขตปทุมวัน กทม. ชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กทม. และชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กทม. ซึ่ง มูลนิธิฯ อยากเห็นทุกชุมชนมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก สตรีและครอบครัว เพื่อส่งเสริมให้วิถีชีวิตของคนในครอบครัวและชุมชนปลอดภัยโดยเฉพาะประเด็นการบาดเจ็บ เสียชีวิตจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
จากการทำงานในพื้นที่ดังกล่าว พบว่า เกิดการช่วยเหลือผู้มีปัญหาความรุนแรง หรือมีการส่งต่อหน่วยงานสหวิชาชีพ รวมถึงขยายเครือข่ายพื้นที่ปฏิบัติการหรือชุมชนให้กว้างมากขึ้น ทั้งเชื่อมกลไกการระดับพื้นที่ มีการปฏิบัติจริงทั้งชุมชนนำร่อง เครือข่ายชุมชนขยาย และภาคีเครือข่ายสหวิชาชีพ ซึ่งมีการเฝ้าระวัง สอดส่องปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยการพัฒนากลไกในพื้นที่ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) และการขับเคลื่อนพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมระหว่างเครือข่ายชุมชนนำร่อง ชุมชนขยายและทีมสหวิชาชีพในพื้นที่เกิดเป็นคณะทำงานปฏิบัติงานได้จริง เช่น พื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญเกิดการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการป้องกันการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว (โนนหนามแท่งโมเดล)
นอกจากนี้ นายอำนาจ แป้นประเสริฐ แกนนำเครือข่ายชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ได้กล่าวว่า จากการสำรวจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวปี 61 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงอายุ 20-60 ปี จำนวน 2,762 ราย ใน 40 ชุมชน เขตบางกอกน้อย พบว่า ผู้หญิงร้อยละ 79.4 มีความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว เช่น การตบตี ชกต่อย เตะ กัด บีบคอ กระชาก แต่ที่น่าห่วงคือผู้หญิงร้อยละ 41.5 ยังมองปัญหานี้เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรเข้าไปยุ่ง ไม่ควรบอกใคร ส่งผลให้เมื่อประสบเหตุไม่มีใครกล้าช่วยเหลือ ส่วนผู้ประสบเหตุไม่กล้าบอกใครเพราะอาย
ขณะที่เหตุการณ์ที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดคือ ร้อยละ 80ใช้คำพูดหยาบคาย ดุด่า ร้อยละ 77.8 ติดเหล้า พนัน ยาเสพติด อันดับสาม ร้อยละ 77.5 สามีเจ้าชู้ คบหลายคน นอกใจ และไม่รับผิดชอบครอบครัว ทำลายข้าวของในบ้าน ที่น่าห่วงคือ ร้อยละ 70.7 ถูกทุบตี กระชากแขน ดึงผม ตบหน้า นอกจากนี้ยังทำให้เสียชื่อเสียง เช่น ประจาน ทำให้อับอาย หรือกักขัง ไม่ให้ออกไปไหน
สาเหตุที่ผู้หญิงส่วนใหญ่อดทนต่อความรุนแรง มาจาก ทนเพราะมีลูก ทนเพราะรัก ทนเพราะอับอาย ซึ่งเป็นระบบวิธีคิดชายเป็นใหญ่ ปลูกฝังให้ผู้หญิงต้องอดทน และมองว่าปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่กล้าให้คนภายนอกรับรู้
สำหรับวิธีแก้ปัญหา เมื่อเกิดความรุนแรง คือ เลือกปรึกษาเพื่อน ปรึกษาคนในครอบครัว ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ27.7ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าในเขตบางกอกน้อยมีหน่วยงานชุมชนให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้ และเกินครึ่ง ร้อยละ58 ไม่ทราบว่ามีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวพ.ศ.2550
ที่น่าห่วงมากคือ หากเก็บเงียบ เก็บอารมณ์ จะนำไปสู่การโต้กลับที่รุนแรงและปัญหาการฆ่าตัวตาย
ดังนั้น ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงาน จึงเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองผู้ประสบปัญหา ภาครัฐต้องอบรมให้ความรู้เรื่องกฎหมาย เรื่องสิทธิ จัดกิจกรรมเน้นสร้างความสามัคคีในชุมชน มีเจ้าหน้าที่ เช่น นักจิตวิทยา ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา