ประเทศไทยเราเป็นเมืองน่าเที่ยว ที่ถูกจัดลำดับให้อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก แต่ในทางกลับกัน เมืองไทยเราก็เป็นประเทศที่สร้างขยะเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นับเป็น 2 สถิติที่ค่อนข้างจะสวนทาง เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว แต่ทำไมถึงเต็มไปด้วยขยะ เรื่องนี้คุยกันมานาน แต่ท้ายสุดก็ยังต้องคุยกันต่อไป จนกว่าจะสางปัญหาขยะของเมืองไทยให้ลดลง พร้อมสถิติที่ไม่ต้องทุบทำลาย แต่ควรออกห่างให้ไกลไม่ต้องติดอันดับได้เลยยิ่งดี
ไม่นานมานี้ ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวนิทรรศการหมุนเวียน “Go Zero Waste ชีวิตใหม่ ไร้ขยะ” สร้างความตระหนักแก่สาธารณชนต่อสถานการณ์ขยะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ กระตุ้นให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการสร้างขยะ ในระดับบุคคล ชุมชน ถึงระดับชาติ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด วิธีการ และปัจจัยความสำเร็จ โดยวิทยากรนักจัดการขยะระดับบุคคล องค์กร และชุมชน นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มกราคม 2562
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยสร้างปริมาณขยะทางทะเล และขยะมูลฝอย 27.4 ล้านตัน ติดอันดับ 6 ของโลก 1 ใน 5 ของปริมาณขยะทั้งหมดอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ใช้สินค้า/ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาระดับโลก
สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายสนับสนุนให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสร้างปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยหลายวิธี
- การจัดตั้ง “กองทุนการจัดการขยะเพื่อสวัสดิการชุมชน” ที่บ้านแสงสาคร จ.บึงกาฬ
- นวัตกรรมการจัดการขยะในชุมชน อาทิ “ไซดักขยะ”จากตาข่ายไนลอน ที่บ้านนาดี จ.ศรีสะเกษ “ถังกรีนโคนกำจัดขยะ” อุปกรณ์ช่วยทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารย่อยสลายขยะอินทรีย์ในครัวเรือน
- ระดับนโยบายสนับสนุน “แผนงานด้านสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ” ภายใต้แผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพผลักดันข้อเสนอและนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า นิทรรศการหมุนเวียน “Go Zero Waste ชีวิตใหม่ไร้ขยะ” เป็นนิทรรศการที่เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึก ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ รวม 4 โซน ได้แก่
- โซน Check&Shock สำรวจพฤติกรรมการบริโภคในชีวิตประจำวันของตัวเองในบ้าน ร้านค้า โรงเรียน และสำนักงาน
- โซน Waste Land สถานการณ์ปัญหาขยะในปัจจุบันและวิธีการแยกขยะ
- โซน Waste Wow นวัตกรรมการจัดการขยะใกล้ตัว อาทิ กล่องหมักปุ๋ย Eco brick ถนนเพื่อคนตาบอด
- โซน Zero Waste World เรียนรู้ต้นแบบวิถีการจัดการขยะจากสถานการณ์ขยะล้นโลกในปัจจุบันที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน องค์กร และประเทศ ผ่านองค์ความรู้ในการลดการสร้างขยะ (Reduce) การนำขยะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และการนำขยะมาแปรรูปแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมทั้งการคัดแยกขยะ การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ผลักดันนโยบายของประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาขยะ
ด้าน ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า การจัดการขยะเป็นประเด็นหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเขตเมือง ซึ่งเป็นโครงการที่ สสส. สนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ความเป็นเมืองทำให้พื้นที่เอื้อต่อสุขภาวะลดลง จึงเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วน จึงต้องเริ่มตั้งแต่ตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม รวมถึงระดับองค์กร เพราะทุกคนเป็นต้นตอการผลิตขยะ
“เริ่มทำโครงการการจัดการขยะ Zero Waste ในโรงเรียนตั้งแต่ปี 2547 เห็นว่าทุกคนเป็นผู้สร้างขยะ หรือ ‘คนต้นทาง’ต้องจัดการขยะด้วยตัวเอง เพียงเริ่มต้นด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากการคัดแยกขยะที่สามารถทำได้ง่ายและไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ” นางปราณี หวาดเปีย คุณครูประจำโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าว