หยุดพฤติกรรม “เนือยนิ่ง”หนุนแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย

52

รัฐบาลเปิดแผนยุทธศาสตร์ชาติส่งเสริมกิจกรรมทางกายคนไทยในชีวิตประจำวัน ลดพฤติกรรมเนือยนิ่งครอบคลุมทุกช่วงวัย ทุกสถานที่ พบคนไทย 1 ใน 3 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ เสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเฉลี่ยสูงถึง 14 ชั่วโมง/วัน

เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมเปิดตัวแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561-2573 เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายในวิถีชีวิตประจำวัน ลดพฤติกรรมเนือยนิ่งที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในระดับโลก และนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย จึงเป็นที่มาของแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ฉบับที่ 1 จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางกายอย่างเป็นวิถีชีวิตประจำวันในทุกกลุ่มวัย เนื่องจากคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถึงร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมด สาเหตุหนึ่งมาจากการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ ถึง 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ

ซึ่งคนไทยโดยเฉลี่ยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่ไม่รวมการนอนสูงถึงเกือบ 14 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นหากส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางกายอย่างจริงจังจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ถึง 11,129 รายต่อปี และลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลได้ถึง 5,977 ล้านบาท

  1. นพ.วชิระ กล่าวว่า สำหรับแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573  ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายประชาชนทุกกลุ่มวัย
  2. การส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งครอบคลุมสถานที่ที่ประชาชนแต่ละกลุ่มวัยใช้ชีวิตประจำวัน เช่น สถานที่ทำงาน สถานประกอบการ สถานบริการสุขภาพ ชุมชน รวมถึงระบบการขนส่งที่เอื้อให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น
  3. การพัฒนาระบบสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย อันได้แก่ การสร้างองค์ความรู้การวิจัย ระบบเฝ้าระวังการมีกิจกรรมทางกาย การสื่อสารรณรงค์ และนโยบายส่งเสริม จากนี้ไปจะเข้าสู่การขับเคลื่อนแผน ฯ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า  สสส. มุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี หนึ่งในนั้นคือ การส่งเสริมให้คนไทยในแต่ละกลุ่มวัยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ หรือส่งเสริมการขยับเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน พร้อมกับส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่ควรเฝ้าจับตาเพราะเป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายน้อยที่สุด โดยวัยเด็กและเยาวชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ อย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน เพียงร้อยละ27 เท่านั้น ขณะที่กลุ่มวัยผู้ใหญ่ มีกิจกรรมทางกายเพียงพออยู่ที่ ร้อยละ71 และผู้สูงอายุ อยู่ที่ร้อยละ 70

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า การส่งเสริมให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในแต่ละช่วงวัย สสส.จึงทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในมิติช่วงวัยและมิติเชิงพื้นที่ อาทิ ในกลุ่มวัยเรียน ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินทางมาโรงเรียนด้วยการใช้การเดิน การขี่จักรยาน ในกลุ่มวัยทำงาน ได้เกิดองค์กรส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงการทำงานระดับพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่องค์กรปกครองท้องถิ่น 2,000 แห่ง พร้อมกับส่งเสริมการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักในสังคม อาทิ การสื่อสารความรู้เรื่องการมีกิจกรรมทางกายที่ถูกวิธีผ่านการเดินวิ่งเพื่อสุขภาพ การพัฒนาชุดความรู้ แนวทางการสนับสนุนต้นแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งสสส.ยินดีให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ตามแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ฯ ฉบับที่ 1 อย่างเต็มที่

นายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การจะส่งเสริมให้ประชาชนไทยมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนให้เอื้อต่อการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การจัดสรรพื้นที่ทางเดินเท้า ทางจักรยาน สวนสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมถึงการวางผังเมืองให้เอื้อต่อการเดิน หรือการใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนรถส่วนตัว รวมทั้งส่งเสริมการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย เช่น งานเดินวิ่งปั่นเพื่อสุขภาพ งานประเพณี ชมรมออกกำลังกาย ชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ เป็นตัวเชื่อมร้อยสังคมเข้าด้วยกัน โดยกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

นายวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การมีกิจกรรมทางกาย ส่งผลดีต่อการเรียนรู้ และการพัฒนาทั้งด้านร่างกายและสมองของเด็กนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดให้มีหลักสูตรพลศึกษาเพื่อให้เด็กได้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงชั่วโมงเรียนเกษตร ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด กิจกรรมนอกหลักสูตร เช่น ชมรมออกกำลังกาย ดนตรี การส่งเสริมให้มีการเรียนนอกห้องเรียน เช่น ในวิชาวิทยาศาสตร์ หรือทัศนศึกษานอกสถานที่ กิจกรรมจิตอาสา การดูแลรักษาความสะอาดในโรงเรียน รวมถึงการสนับสนุนให้นักเรียนเดินทางมาโรงเรียนด้วยตนเอง โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า การมีกิจกรรมทางกาย ช่วยทำให้ประชาชนวัยทำงานมีร่างกายที่แข็งแรง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน กระทรวงแรงงานได้ส่งเสริมให้มีกิจกรรมออกกำลังกายในสถานที่ทำงาน โดยสนับสนุนให้มีการจัดสวนหย่อม ทางเดินวิ่ง อุปกรณ์ออกกำลังกาย มีชมรมแอโรบิก จัดงานแข่งขันนับจำนวนก้าวในสถานที่ทำงาน รวมถึงสนับสนุนการใช้บันไดแทนลิฟต์ การลุกยืนขยับร่างกายบ่อยๆ ระหว่างการนั่งทำงาน ซึ่งได้รับการตอบรับนโยบายจากสถานประกอบการต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ