เทรนด์กำลังมา Self-Storage ห้องเช่าเก็บของ จ่อคิวขายแฟรนไชส์

633

ก่อนหน้านี้ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่า ธุรกิจการเช่าห้องเก็บของสำหรับบุคคลทั่วไป จะเป็นแบบไหน แล้วจะเหมาะกับเมืองไทย ที่มีพื้นที่อยู่มากมายได้อย่างไร จะคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นหรือไม่

แต่เมื่อกระแสของการใช้ชีวิตแนวตั้งอย่างคอนโดมีเนียม ห้องพักที่มีขนาดเล็กลง อาจเก็บของรักของหวงได้ไม่หมด รวมทั้งกระแสของแม่ค้าออนไลน์ ที่มีจำนวนสูงขึ้น พร้อมด้วยเทรนด์ของการจัดเก็บของมีค่าอย่าง “ไวน์”  ก็กำลังมา ทำให้คำว่าโกดังเก็บของในอดีต เปลี่ยนหน้าตาให้มีขนาดที่คนทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น พร้อมศักยภาพของการจัดเก็บที่มากกว่า เป็นอีกเทรนด์ที่เรียกได้ว่า….กำลังมา

ภักดี อนิวรรตน์

นายภักดี อนิวรรตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท สตอเรจ เอเชีย จำกัด  ผู้นำการให้บริการเช่าห้องเก็บของและทรัพย์สิน (Self-Storage) ระดับพรีเมียมของประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจ Self-Storage ในประเทศไทย เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ตามไลฟ์สไตล์ของคนกรุงเทพฯ ที่นิยมอาศัยอยู่ในย่านกลางเมือง พร้อมกับผู้ประกอบการด้านการค้าออนไลน์ และกิจการรูปแบบอื่นๆ ที่มีความต้องการใช้บริการเช่าพื้นที่เก็บของหรือสต็อกสินค้า

สำหรับภาพรวมตลาด Self-Storage ปี 61 บริษัทประเมินว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่ดีจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรพย์ ขณะที่ปัจจุบันตลาดพื้นที่เช่าเก็บของในไทยมีพื้นที่รวมอยู่ที่ประมาณ  15,000 ตร.ม.  และคาดว่ามูลค่าตลาดพื้นที่เช่าเก็บของในไทยอีก 5 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 400,000 ตร.ม. ในขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่ให้บริการอยู่ที่ประมาณ 2,500 ตร.ม. โดยบริษัทตั้งเป้าจะมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ระดับ 30%

ทั้งนี้ บริษัทได้ทำการตลาดแนะนำบริการ “i-Store” กับกลุ่มลูกค้าที่มีบ้าน คอนโดมิเนียม และกลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ อีกทั้งได้มีการเปิดสาขาให้บริการแล้ว 2 แห่งที่สีลม และสุขุมวิท 24 ซึ่งในช่วงต่อจากนี้บริษัทจะขยายงานในส่วนต่างๆ ทำการตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายปีหน้าเปิดสาขาให้บริการ i-Store ทั่วกรุงเทพฯ ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) อีกจำนวน 3 แห่ง และมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท

สำหรับแนวทางการตลาดในปีนี้บริษัทจะเน้นการสื่อสารให้แบรนด์ i-Store เป็นที่เชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภค พร้อมทั้งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความคุ้มค่าของการเลือกใช้บริการเช่าพื้นที่เก็บของที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยสูง ตามสโลแกน “ของที่คุณรักต้องฝากกับเพื่อนที่รู้ใจ” โดยบริการของบริษัทมีทั้งหมด 4 บริการ ประกอบด้วย บริการห้องเก็บของส่วนบุคคล, บริการห้องเก็บของสำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจ, บริการห้องเก็บไวน์ และบริการ BOX STORAGE โดยมีขนาดห้องตั้งแต่ 0.5 ตร.ม. จนถึง 18 ตร.ม. และมีระดับราคาของทั้ง 4 บริการอยู่ระหว่าง 900-20,000 บาทต่อเดือน

“i-Store ทำตลาดโดยเน้นฐานลูกค้ากลุ่มที่อาศัยในคอนโดในเมือง กลุ่มผู้ประกอบการพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ออฟฟิศสำนักงานต่างๆ ซึ่งการเข้ามาทำตลาดในครั้งนี้เป้าหมายไม่ใช่การแข่งขันเพื่อแย่งชิงยอดขายในตลาด แต่ต้องการเป็นตัวช่วยให้คนเมืองได้มีพื้นที่ใช้สอยภายในที่พักอาศัยมากขึ้น ด้วยการเดินทางที่สะดวกใกล้รถไฟฟ้า BTS มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีคุณภาพ มีสภาพแวดล้อมของสถานที่มีระบบความปลอดภัยตลอด  24 ชั่วโมง มีระบบป้องกันเพลิงไหม้ มีคีย์การ์ด เข้า-ออกอาคาร และใช้สแกนขึ้นลิฟต์ไปในชั้นของตัวเองได้เท่านั้น พร้อมควบคุมระบบแสงไฟ พัดลมระบายอากาศและเซ็นเซอร์ระบบไฟส่องสว่าง ผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาเอาของได้ตลอด 24 ชั่วโมง ได้ทุกวัน เพียงแค่มีคีย์การ์ดเพียงใบเดียว”นายภักดี กล่าว

นอกจากนี้บริษัทยังมีการขยายฐานผู้ใช้บริการโดยร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดย i-Store ได้ร่วมมือกับ บมจ.แสนสิริ ในการยกระดับประสบการณ์การใช้ชีวิตเพื่อลูกบ้านแสนสิริ โดยสามารถเลือกใช้บริการของ i-Store ผ่าน Application HOME SERVICE 2.0 บน ฟีเจอร์ SANSIRI MOVE-IN EXPERIENCE ในกลุ่ม MOVING บริการให้เช่าห้องเก็บของ  (Self-Storage) และ กลุ่ม EASY LIVING บริการให้เช่าห้องเก็บไวน์ (Wine Storage) พร้อมมอบข้อเสนอพิเศษที่เหนือกว่าให้กับลูกบ้านแสนสิริโดยเฉพาะ คาดว่าแคมเปญนี้จะได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกบ้านของแสนสิริ ที่ i-Store จะเป็นตัวช่วยให้ลูกบ้านมีพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน หรือคอนโดมิเนียมเพิ่มมากขึ้น

นายภักดี กล่าวต่อไปว่า บริษัทมีแผนขยายธุรกิจผ่านระบบแฟรนไชส์เพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดรูปแบบและรายละเอียดในการลงทุน คาดว่าจะเริ่มเปิดขายแฟรนไชส์ได้ภายในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้เริ่มให้ข้อมูลกับผู้สนใจแล้วหลายราย โดยกลุ่มผู้สนใจมีทั้งที่มีความคุ้นเคยในธุรกิจพื้นที่เช่าอาคารสำนักงาน รวมถึงมีแหล่งเงินทุนพร้อมอยู่แล้ว และกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่มีประสบการณ์ แต่มี Asset และต้องการร่วมธุรกิจผ่านระบบแฟรนไชส์

อีกทั้งบริษัทวางแผนเตรียมจะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผ่าน  LiVE  platform ในการระดมทุนในรูปแบบคราวด์ฟันดิ้งและการซื้อขายหลักทรัพย์ในรูปแบบเจรจาต่อรอง (Over The Counter: OTC)   ซึ่งเป็นการซื้อขายที่เรียกว่าระบบนอกตลาด โดยเป็นการตกลงกันเองระหว่างผู้ลงทุนโดยชำระราคา  และส่งมอบกันนอกระบบตลาด ทั้งนี้คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในภายในปีนี้