วัยว้าวุ่นปัญหาสุมทรวง ซึมเศร้า อมทุกข์ เผย 1 ใน 4 เคยคิดฆ่าตัวตาย

101

วัยรุ่นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เพราะเป็นวัยที่กำลังจะละจากความเป็นเด็กและเข้าสู่สังคมแบบผู้ใหญ่ ที่ต้องมีความรับผิดชอบทั้งการใช้ชีวิตและการเรียน ภายใต้ความกดดันและความคาดหวัง นอกจากนั้นยังมีปัญหาที่พวกเขาต้องประสบพบเจอและไม่สามารถหาทางออกได้ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนสร้างความทุกข์ใจให้เกิดขึ้นกับวัยรุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งของปัญหาของสังคมไทย ที่นำไปสู่ผลกระทบในด้านอื่นๆ อีกมาก

ไม่นานมานี้ สสส. ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมสะท้อนปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชน ด้วยการจัดนิทรรศการระบายความรู้สึกผ่านเสียง หวังสร้างสังคมใส่ใจคนรอบตัว รู้วิธีดูแลผู้มีภาวะซึมเศร้า ณ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

โดยสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยงานรัฐและองค์กรภาคเอกชน อาทิ กรุงเทพมหานคร กรมกิจการเด็กและเยาวชน (พม.) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย  มูลนิธิแพธทูเฮลท์ MBK Center ได้จัด นิทรรศการ We Are Listening ระบายความรู้สึกผ่านคลิปเสียง ภายใต้แนวคิด Children and Youth Happy +plus การทำงานบนภาพความทรงจำแห่งความสุขด้วยสุขภาพจิตที่ดี” เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติปี 2561 เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต การป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต การยอมรับและสามารถอยู่ร่วมกับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต รวมถึงการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการว่า ข้อมูลองค์การอนามัยโลกระบุถึง สาเหตุการตายของเยาวชนวัย 10-24 ปีทั่วโลกที่สูงถึง 2.6 ล้านคนต่อปี พบว่า 1 ใน 3 มีสาเหตุจากการฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า  ขณะที่ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ปี 2560 พบวัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึงร้อยละ 44 และมีอัตราป่วยเป็นโรคนี้สูงถึงร้อยละ 18 หรือราว 1 ล้านคน ซึ่งเห็นได้จากข่าวที่มีบ่อยขึ้น ในเรื่องการทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่นของวัยรุ่น ซึ่งสื่อมักรายงานว่าเกิดจากปัญหาการเรียน ปัญหาครอบครัว ปัญหาความรัก รวมถึงปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน โดยวัยรุ่นที่ประสบปัญหาส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้ไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

“สสส. มีภารกิจสร้างเสริมสุขภาพคนไทยทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม การจัดงานในวันนี้เป็นผลจากการทำงานร่วมกับ กรุงเทพมหานคร รวมถึงสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ ในโครงการ Bangkok For Teen (B4T) ที่มุ่งป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งมาตรการที่สำคัญประการหนี่ง คือการกระตุ้นให้ผู้ใหญ่สร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนได้ตระหนักในคุณค่าและความสามารถของตน อันเป็นแนวทางในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนจากภาวะซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี การทำกิจกรรมครั้งนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโอกาสให้เยาวชนได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ตามความสนใจและโดยการร่วมกันวางแผนทำงานของกลุ่มเยาวชนกันเอง” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า โครงการยูรีพอร์ต ประเทศไทย ได้สำรวจออนไลน์กับกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่น 2,692 ราย ระหว่างวันที่ 5-13 กันยายน 2561 พบว่า ครึ่งหนึ่งของวัยรุ่นตอบว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเคยรู้สึกหดหู่ เศร้า สิ้นหวัง ท้อแท้ และอีกร้อยละ 70 รู้สึกเบื่อหรือทำอะไรไม่สนุก ไม่เพลิดเพลิน โดย 1 ใน 4 เคยคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย  ร้อยละ 87 ไม่เคยได้รับบริการสุขภาพจิตจากหน่วยงานใด และต้องตกอยู่ในความทุกข์ทางใจจำนวนไม่น้อย โดยเรื่องเรียนเป็นเรื่องที่สร้างความกดดันมากที่สุด เพราะฉะนั้นงานในวันนี้จึงเป็นเรื่องดีที่เด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ใหญ่จะหันมาสนใจปัญหาเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น ทำให้ทั้งเด็กและเยาวชนรวมถึงผู้ใหญ่รอบข้าง สามารถรู้วิธีป้องกัน วิธีสังเกตภาวะซึมเศร้า รวมถึงรู้จักหน่วยงานช่วยเหลือให้คำปรึกษา ในกรณีพบผู้ที่อาจเข้าข่ายซึมเศร้า จะได้ช่วยกันนำพาเข้าสู่การรักษาเหมือนโรคทั่วๆ ไป

ด้าน นายภาณุศาสตร์ ทองทศ ประธานการจัดงานวันเยาวชนแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรมในงานมีการจัดนิทรรศการ We Are Listening โดยผู้ที่มีความเครียดจะระบายความรู้สึกต่างๆ ผ่านคลิปเสียง ซึ่งผู้ที่เข้าชมนิทรรศการสามารถรับฟังและให้คำปรึกษาได้ นอกจากนี้ยังมีการออกบูธโดยหน่วยงานที่ทำงานด้านสุขภาพจิตในวัยรุ่น และมีบริการคัดกรองสุขภาพจิตและให้คำปรึกษาโดยแพทย์และนักจิตวิทยา รวมถึงกิจกรรมการเล่นเกม การแสดงดนตรี ซึ่งเวทีวันนี้นอกจากจะเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นของเยาวชนแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่จะจุดประกายความคิดให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับอนาคตของชาติ และเร่งวางมาตรการป้องกันแก้ไขได้อย่างถูกต้องครอบคลุมทุกมิติต่อไป