สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาขอทานยังมีอยู่ในสังคมไทย เพราะคนไทย มีค่านิยมความเชื่อในเรื่องการให้ทาน การทำบุญ จนกลายเป็นช่องทางให้คนบางกลุ่มมาแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ขอทานจนเกิดเป็นขบวนการค้ามนุษย์ และแม้ว่า จะเป็นขอทานจริงๆ สังคมก็ต้องมีส่วนในการช่วยเหลือเพื่อดึงเขาออกมาจากจุดนั้น มากกว่าการส่งเสริมให้เขาเป็นขอทานต่อไป
เพราะการเป็นขอทาน เป็นปัจจัยก่อให้เกิดปัญหา ทั้งตัวขอทานเอง และ ความปลอดภัยของคนในสังคม และนี่คือหนึ่งดัชนีชี้วัด ของสังคมที่มีคุณภาพ ซึ่งในอนาคต ประเทศไทย ต้องปราศจากขอทานให้ได้
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนมีความรู้ความเข้าใจในพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 และ พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 เพื่อให้สังคมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกันภายใต้โครงการรณรงค์ “สังคมไทย ห่วงใยคนไร้ที่พึ่ง และคนขอทาน” ผ่านการดำเนินงานภายใต้ 3 นโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาผู้ทำการขอทาน คือ
- นโยบายเร่งด่วน ด้วยการจัดระเบียบอย่างต่อเนื่องจนเห็นผลทั่วประเทศ
- นโยบายบริหารการพัฒนา ด้วยการพัฒนาความสามารถของผู้ปฏิบัติงานและการพัฒนาศักยภาพผู้ที่มีบัตรผู้แสดงความสามารถ
- นโยบายการขับเคลื่อนในพื้นที่ ด้วยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เป็นองค์กรส่วนท้องถิ่นและองค์กรเอกชน ในการแก้ไขปัญหาขอทานในพื้นที่อย่างยั่งยืน
นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (อพส.) เปิดเผยว่า จากการดำเนินการใน 3 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต สมุทรปราการ และเชียงใหม่ พบว่า ได้ผลตอบรับที่ดี จากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ อีกทั้งยังมีความยินดีในการแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกับภาครัฐ และจากผลการจัดระเบียบคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ที่ผ่านมา พบว่ายังมีกลุ่มผู้ทำการขอทานทั้งชาวไทยและต่างด้าวในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งนี้ จึงควรมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้ตระหนักรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมการขอทานอย่างกว้างขวาง รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาล สำหรับการแก้ไขปัญหาทางสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการทำงานตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ภายใต้แนวคิด “สังคมลดขอทาน บนพื้นฐานความร่วมมือ”
สำหรับตัวเลขคนขอทานในปี 2560 จากการสำรวจพบกว่า 1,300 คน หลังจากการดำเนินงานของ พม. ส่งผลให้การสำรวจล่าสุดในปี 2561 มีขอทานลดลง เหลือราว 400 คน โดยพบว่า เป็นส่วนที่ได้รับการส่งเสริมให้เข้าสู่ “ผู้แสดงความสามารถ” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถแล้วประมาณ 3,000 คน โดยเป้าหมายสำคัญในการดูแลคนขอทานและคนไร้ที่พึ่ง คือ การนำกลับสู่ครอบครัว
ทั้งนี้ มีจังหวัดที่เตรียมประกาศพื้นที่ปลอดขอทานในบางเขตการปกครองแล้ว เช่น ลำพูน และ สิงห์บุรี ซึ่งอาจจะประกาศเป็นจังหวัดปลอดขอทานเป็นจังหวัดแรก ทั้งนี้ต้องดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ก่อนจะประกาศให้ทราบได้
“ใน ปี 2562 นี้ มีแผนประกาศพื้นที่ปลอดขอทานในประเทศไทย นับเป็นเป้าหมายอันท้าทาย เพราะเล็งเห็นว่า การทำงานในการแก้ปัญหาสังคมในปัจจุบันนั้น จะรอช้าไม่ได้ หากทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ก็จะไม่เท่าทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น” นางนภา กล่าว
ล่าสุด การดำเนินงานด้านการรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการขอทานในเมืองไทย โดยใช้พื้นที่กรุงเทพฯ เป็นการรณรงค์ครั้งยิ่งใหญ่ โดยใช้พื้นที่บริเวณ สยามสแควร์วัน นำขบวนรณรงค์ “สังคมลดขอทาน บนพื้นฐานความร่วมมือ” มุ่งเปลี่ยนการให้ด้วยความสงสาร เป็นการให้ด้วยการสร้างโอกาสและที่ยืนในสังคมแก่คนไร้ที่พึ่ง คนขอทาน โดยนางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (อพส.) เป็นประธานในพิธีเปิด
โครงการรณรงค์ “สังคมลดขอทาน บนฐานความร่วมมือ” เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สำหรับการสร้างการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงและการแจ้งเหตุ เพื่อให้ความช่วยเหลือคุ้มครองแก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานให้ ตลอดจนการสร้างความเป็นระเบียบและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศภายใต้แนวคิด ให้ทาน ให้คิด ให้ชีวิต “คนขอทาน” พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วยการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ไปยังหน่วยงานในพื้นที่ 76 แห่งทั่วประเทศ
นางนภา กล่าวว่า โครงการรณรงค์ “สังคมลดขอทาน บนพื้นฐานความร่วมมือ” เป็นการเน้นย้ำถึงการดำเนินงาน อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องตามภารกิจของ พส. ด้วยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน พร้อมการจัดระเบียบ เพื่อลดจำนวนผู้ทำการขอทาน โดยมีการนำผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ลงฝึกปฏิบัติในพื้นที่จริง เพื่อเสริมสร้างทักษะและความเชี่ยวชาญแก่ผู้ปฏิบัติงาน
อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดกิจกรรมจากกรุงเทพมหานครไปสู่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อการดำเนินการพร้อมกัน ทั้งนี้ การดำเนินงานในกรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมสุขภาพจิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) กรุงเทพมหานคร โดยสำนักเทศกิจ กระทรวงศึกษาธิการ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนบางปะกอกวิทยา เป็นต้น
“การเปลี่ยนภาพจำของสังคมจากเดิมที่เป็นการให้ความช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ด้วยความสงสาร เป็นการสร้างโอกาสและสร้างที่ยืนในสังคมอย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน เป็นภารกิจที่กระทรวง พม. ไม่สามารถดำเนินการได้เองเพียงลำพัง ดังนั้น ความสำเร็จในวันนี้และที่ผ่านมา ถือว่าเกิดจากความร่วมมือกันจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง”
ขอทานผิดกฎหมาย ดูอย่างไรว่าเป็นขอทาน
(พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559)
สำหรับประชาชนโดยทั่วไป ควรทราบไว้ว่า ปัจจุบัน การขอทานในเมืองไทยนั้น เป็นเรื่องผิดกฎหมาย มาดูกันว่าพฤติกรรมไหนถือว่าเป็นขอทานกันบ้าง
-การขอเงินหรือทรัพย์สิน ด้วยวาจา ข้อความ หรือแสดงกิริยาอาการใด
-การกระทำให้ผู้อื่นเกิดความสงสาร และส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้
ทั้งนี้ ผู้กระทำการขอทานมีโทษจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน/ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้แสวางหาประโยชน์ จากผู้ขอทาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3-5 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000-50,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ การเรี่ยไร ไม่ถือว่าเป็นการขอทานตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้แสดงความสามารถ ไม่ใช่ขอทาน
ผู้แสดงความสามารถ คือ ผู้ทำการแสดงแก่ผู้ชม ผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็น การเล่นดนตรี หรือการแสดงอื่นใด ซึ่งทำให้ผู้ชม หรือ ผู้ฟัง เกิดความพึงพอใจต่อการแสดงนั้น โดยส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้เป็นการตอบแทน
เมื่อต้องการแสดงความสามารถในพื้นที่สาธารณะ ต้องทำอย่างไรบ้าง
- ต้องมีบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถ โดยติดต่อขอทำบัตรได้ที่
กรุงเทพมหานคร
ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร โทร. 0-2245-2700
ส่วนภูมิภาค
สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในทุกจังหวัด
- ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่นั้น เพื่อออกใบรับแจ้งการขออนุญาตแสดงไว้เป็นหลักฐาน
ทั้งนี้ประชาชนโดยทั่วไป สามารถแจ้งเบาะแสต่างๆ ได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม : สายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง