ไม่ใช่แค่ภัยเงียบแล้วนะหัวใจ หมอย้ำ “ละเลย” อาจ “ล้มเหลว”

146

โรคหัวใจแม้จะเป็นภัยเงียบที่อยู่ข้างใน และไม่ค่อยแสดงอาการอะไรออกมาให้เห็นเด่นชัด จนเกิดเป็นข่าวคราวการสูญเสีย ทั้งคนรอบข้าง ในดังในสังคม หรือแม่แต่คนใกล้ชิด ดังนั้น โรคหัวใจ จึงไม่ใช่ภัยเงียบที่ฝังอยู่ข้างในอีกต่อไป เราจำเป็นต้องรู้เท่าทันอวัยวะชิ้นสำคัญที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้เรายังมีลมหายใจต่อไป

หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวมาพอสมควร แต่ทราบหรือไม่ว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตด้วยภาวะนี้ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกรายงานแต่ละปี พบว่ามีผู้ป่วยประมาณ 17 ล้านคนทั่วโลกประสบปัญหาภาวะหัวใจล้มเหลว และหากไม่เร่งป้องกันแก้ไขปัญหา คาดว่าในปี 2573 หรือในอีก 13 ปีข้างหน้า จะมีผู้เสียชีวิตภาวะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 23 ล้านคน

สำหรับสถานการณ์โรคหัวใจในประเทศไทย  มีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2556 และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้จากประชากรทั้งโลก 54,530 คน เฉลี่ยวันละ 150 คน หรือเฉลี่ยชั่งโมงละ 6 คน ซึ่งนับว่ามีจำนวนอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมากทุกปี

นพ.นรศักดิ์ สุวจิตตานนท์

นพ.นรศักดิ์ สุวจิตตานนท์ แพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า หัวใจนับว่าเป็นอวัยวะที่ทำงานตลอดเวลา 24 ชั่วโมงและทำหน้าที่ส่งเลือดผ่านไปยังหลอดเลือดผ่านไปยังหลอดเลือดอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย รวมไปถึงการเลี้ยงหัวใจหากหลอดเลือดใดหลอดเลือดหนึ่งของหัวใจมีความผิดปกติไป หัวใจก็จะทำงานหนักมากขึ้น จนก่อให้เกิดปัญหาหัวใจวาย หรือที่เรียกกันว่า หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด

ภาวะหัวใจล้มเหลวนับว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยในปัจจุบันที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ หรือแม้กระทั่งรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ ซึ่งจะส่งผลให้หัวใจหยุดทำงาน

อธิบายได้โดยง่ายคือ หากมองหัวใจเปรียบเสมือนเขื่อนหรือปั๊มน้ำที่คอยส่งน้ำไปเลี้ยงตามบ้านเรือน หรือแปลงเกษตรกรรม ภาวะหัวใจล้มเหลวก็คือ การที่เขื่อนไม่สามารถทำหน้าที่ส่งน้ำไปยังบ้านเรือนหรือแปลงเกษตรกรรมได้ตามความต้องการ ทำให้น้ำเหนือเขื่อนอาจจะล้นเขื่อนจนก่อให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งก็เปรียบเสมือนการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ เต้นผิดจังหวะ ทำให้การไหลเวียนเลือดผิดปกติตามไปด้วย หรือ บางรายอาจเกิดจากหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด รวมไปถึงภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลทำให้เกิดภาวะ “หัวใจล้มเหลว” นั่นเอง

โดยปกติแล้วภาวะหัวใจล้มเหลวอาจเกิดขึ้นและมีผลกระทบเฉพาะหัวใจซีกขวา หรือเฉพาะซีกซ้ายก็ได้ แต่ส่วนมากภาวะหัวใจล้มเหลว มักจะมีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจทั้งสองด้าน โดยภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

Systolic Heart Failure เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจที่ไม่สามารถสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจได้ ปริมาณเลือดที่ออกไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจึงลดลง

Diastolic Heart Failure เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจไม่มีความยืดหยุ่น จึงส่งผลให้เลือดไหลเข้าสู่หัวใจได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ การสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจจึงน้อยลงตามไปด้วย

ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นเกิดจากหลายๆ สาเหตุซึ่งต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยเพื่อที่จะรักษาได้ตรงจุด มิฉะนั้นการรักษาจะเป็นเพียงการบรรเทาอาการเบื้องต้นเท่านั้น สาเหตุแบ่งออกเป็น

  1. สาเหตุจากตัวหัวใจเอง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ หรือมีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ
  2. สาเหตุอื่นๆ เช่น โลหิตจาง ไทรอยด์เป็นพิษ หลอดเลือดไปปอดอุดตัน และความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้
  3. ไม่รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ควบคุมอาหาร การซื้อยาแก้ปวดทานเอง การใช้สารเสพติด และดื่มแอลกอฮอล์

โดย ภัยเงียบโรคหัวใจ มักบ่งบอกสัญญาณอันตรายด้วยอาการเหนื่อยง่าย แน่นและเจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการที่พบได้มากที่สุด และหากมีการนั่งพักแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น และเป็นมากขึ้น ถือว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ขณะที่บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเหงื่อออกมากร่วมด้วยก็นับว่าเป็นความเสี่ยงที่สามารถส่งผลให้เกิดเป็นโรคหัวใจได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

วิธีการรักษา จะแบ่งเป็นการรักษาด้วยยา เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ ยาขยายหลอดเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านหัวใจเต้นผิดปกติ ยาลดความดันโลหิตสูงที่มีฤทธิ์ชะลอการเสื่อมลงของกล้ามเนื้อหัวใจ ยาลดความดันที่ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ  หรืออาจจำเป็นต้องใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในกรณีที่มีข้อบ่งชี้เพื่อทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายและขวาบีบตัวพร้อมกัน หรือในรายที่มีอาการมากๆ อาจจะจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ซึ่งการรักษาทั้งหมดนี้ก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ดูแลรักษาสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงอย่าให้หัวใจล้มเหลวกลายเป็นภัยเงียบที่ทำอันตรายชีวิตคุณได้

อย่างไรก็ตาม การป้องกันการเกิดปัญหาของหัวใจ กระทำได้ในทุกช่วงวัย ตั้งแต่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ในรสชาติที่ไม่หวาน มัน เค็ม จัดจนเกินไป ควบคุมน้ำหนัก พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผู้ที่เหนื่อยง่าย ควรออกกำลังกายที่ไม่หักโหมจนเกินไป พร้อมการทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง ผู้ที่เริ่มพบความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ในทันที และเราทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อติดตามการทำงานของหัวใจอย่างใกล้ชิด