ชมเรื่องเล่าชาวพะเยา ชวนแปลงร่างเป็น “สาวไทลื้อ”

1638

ในทุกที่มีเรื่องเล่า ในทุกเหล่ามีที่มา นี่คือเสน่ห์ของประเทศไทย ซึ่งไม่ว่าจะไปไหนมาไหน ก็สามารถพูดคุยกับผู้คนที่เป็นมิตร ได้สัมผัสชีวิตที่แตกต่าง อย่างสนุกสนาน

และวันนี้ก็สนุกสนานยิ่งกว่าเก่า เพราะเมื่อเรามาถึง อ.เชียงคำ จ.พะเยา ก็มุ่งเข้าไปที่ ต.หย่วน ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทลื้อ ที่อยู่ในเมืองไทยมานานแสนนาน เราก็เข้าที่พัก  “เชียงคำไทลื้อรีสอร์ท” นับเป็นทริปแรกๆ ที่มาถึงแล้วมุ่งตรงไปห้องพักกันเลย

เปล่าเลย..การมาถึงแล้วเข้าห้องนอนตากแอร์ ก็คงไม่ใช่ความสนุกที่ว่า เพราะวิถีไทลื้อเริ่มต้นตั้งแต่ที่นี่ หลังจากที่ ผู้ใหญ่บ้านคนงาม “หยิน” สาวไทลื้อมาถึง คุณป้าอีกท่านก็หอบสัมพาระมาเต็มโต๊ะ ใครพร้อมแล้วที่จะสัมผัสวิถีไทลื้อ ก็เริ่มจากการสวมชุดไทลื้อได้เลย เลือกกันไปเลือกกันมา หาชุดที่ใช่ ไซส์ที่ชอบกันอยู่พักหนึ่ง ผู้ใหญ่หลินและคุณป้าช่วยโพกผ้าให้ จนกลายเป็นหนุ่มสาวไทลื้อที่ดูเก้ๆ กังๆ เพราะยังสวมผ้าใบ สะพายกระเป๋า แต่ก็ถือเป็นหนึ่งความสนุกแรก ที่ใช้จ่ายเพียง 250 บาท ก็สามารถแปลงร่างในชุดสวยๆ ได้แล้ว  ก่อนที่เราจะนั่งรถราง ออกไปใช้ชีวิตชาวไทลื้อ ตลอดทั้งวัน ภายใต้ชุดสวยๆ นี้

ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ เป็นชาวไทกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือการใช้ภาษาไทลื้อ และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ อื่นๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะและประเพณีต่างๆ

ศิลปะที่โดดเด่นของชาวไทลื้อได้แก่ งานผ้าทอไทลื้อ นิยมใช้ผ้าฝ้าย บางสมัยนิยมใช้เส้นไหมจากต่างถิ่น ทอลวดลายที่เรียกว่า “ลายเกาะ” ก้วยเทคนิคการล้วง ซึ่งปัจจุบันนิยมเรียกว่า ลายน้ำไหล มีการฟื้นฟูและถ่ายทอดศิลปะการทอผ้าแบบไทลื้อในหลายชุมชนของภาคเหนือใน

ผู้ชายไทลื้อส่วนใหญ่จะนิยมสวมเสื้อขาวแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อกั๊กปักลวดลายด้วยเลื่อม เรียกว่า “เสื้อปา” สวมกางเกงขายาวต่อหัวกางเกงด้วยผ้าสีขาว เรียกว่า “เตี่ยวหัวขาว” นิยมโพกศีรษะ (“เคียนหัว”) ด้วยผ้าสีขาว สีชมพู

ส่วนหญิงไทลื้อนิยมสวมเสื้อปั๊ด เป็นเสื้อที่ไม่มีกระดุมแต่สาบเสื้อจะป้ายเฉียงมาผูกไว้ที่เอวด้านข้าง  นุ่งซิ่นต๋าลื้อ สะพายกระเป๋าย่ามเล็กๆ และนิยมโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือสีชมพู

จุดแรกเรานั่งรถรางไปกันที่ “วัดแสนเมืองมา”  วิหารศิลปะลื้อผสมล้านนาร่วมสมัย มีพระพุทธศิลป์แบบลื้ออันงดงาม  ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช” ให้เราได้เรียนรู้วิถีชีวิตเขาชาวไทลื้อ จุดนี้เราได้พบกับข้าวของเครื่องใช้ในอดีต รวมทั้ง ห้องนอนของชาวไทลื้อในสมัยก่อน ที่จะต้องนอนกางมุ้งเรียงกันโดยไม่มีการกั้นฝาผนัง ทำให้มุ้งของไทลื้อจึงเป็นสีดำ เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวนั่นเอง

บริเวณวัดแสนเมืองมา เป็นอีกจุดที่เรามาถ่ายรูปในชุดไทลื้อ ได้อย่างงดงาม

ชาวไทลื้อมีฝีมือในการทอผ้า อยากรู้ก็ต้องมุ่งหน้าไปที่ “ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน”  เป็นแหล่งภูมิปัญญาในทุกๆ ด้านของชาวไทลื้อให้ชมกันก่อนที่จะไปพบของจริง

“ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน” เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนซึ่งรวบรวมข้อมูลการจัดแสดงเกี่ยวกีบวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ นอกจากนี้ยัง ภายในศูนย์ยังมีศูนย์ทอผ้าไทลื้อบ้านหย่วน ที่มีการสาธิตการทอผ้าไทลื้อ และมีผ้าไทลื้อไว้จำหน่าย ภายในยังได้ชมเครื่องแต่งกายของชาวไทลื้อในอดีต ที่ได้เก็บสะสมไว้ที่นี่ บอกได้เลยว่ามีเสน่ห์น่าค้นหา ด้วยการเดินลายแบบเย็บมือ ที่มีความปราณีต ถึงจะเก่าก็ยังมีความร่วมสมัย หากนำกลับมาเป็นลายในเสื้อผ้าปัจจุบันก็น่าจะเก๋มาก

ผู้ใหญ่บ้านคนสวยอัธยาศัยดี อาสาเป็นไกด์นำเที่ยวด้วยตัวเอง

ระหว่างที่นั่งรถรางในชุมชนไทลื้อ เราได้เห็นสภาพบ้านเรือนแบบชาวเหนือผสมผสานกับบ้านเรือนสมัยใหม่ แต่ก็ยังเป็นชุมชนที่มีความสงบเรียบร้อยและสะอาดมาก ก่อนจะแวะไปที่ “วัดพระธาตุสบแวน” ในตัวบ้านหย่วน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุเจดีย์ที่มีความเก่าแก่มาก โดยสันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุราว 800 ปี เลยทีเดียว ภายในองค์พระธาตุได้บรรจุเส้นพระเกศา และกระดูกส่วนคางของพระพุทธเจ้าไว้

ด้านในมีอาคารจัดแสดงภาพวาดบันทึกประวัติศาสตร์และการดำเนินชีวิตของชาวไทลื้อ แม้จะเป็นการเขียนขึ้นได้ไม่นาน แต่ก็มีความงดงาม ด้วยรายละเอียดที่น่าสนใจ ยิ่งได้ผู้ใหญ่หยิน มาช่วยบรรยายเรื่องราวของแต่ละภาพ นับเป็นการเปิดโลกไทลื้อไสตล์นิทานที่น่าฟังมากๆ

และก็มาถึงอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ เพราะหลังจากตะลุยไปในชุมชนอยู่นาน เราก็เริ่มหิวกันแล้ว วันนี้เรามีนัดกินขันโตกกันที่เฮือนไทลื้อบ้านแม่แสงดา นับเป็นบ้านไทลื้อดั้งเดิมที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพียงหลังเดียวในเชียงคำ ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยปัจจุบันมีแม่แสงดา ดูแลรักษาไว้ พร้อมต้อนรับคณะนักท่องเที่ยวด้วยจิตไมตรี แม้ว่าแม่แสงดาจะอายุมากแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรงสดใส เพราะได้ต้อนรับผู้คนมากหน้าหลายตา พร้อมเคล็ดลับ 6 โมงเย็นเข้านอน และเลือกรับประทานอาหารที่มาจากผักพื้นบ้าน

แม่แสงดามีเรื่องเล่าตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อที่อพยพมาจากสิบสองปันนา มาตั้งรกรากด้วยความยากลำบาก จนถึงปัจจุบัน ความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อเป็นไปอย่างเรียบง่าย สุขสบาย ท่ามกลางการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันเหนียวแน่น

และเย็นนี้ เราก็ได้ร่วมล้อมขันโตกในมื้อเย็นกับแม่แสงดา ที่มีเรื่องเล่าสนุกสนานไม่จบสิ้น แม้กระทั่งอาหารแต่ละเมนู อย่าง จอผักกาดลื้อ แกงผักกาดส้ม แกงขนมจีนเส้นแห้ง จินซั่มพริก ปลาปิ้งอบ แต่ละชื่อไม่คุ้นหู แต่ก็ยังคุ้นตา ไม่รวมเจ้า “แอ่งแถะ” ลักษณะคล้ายวุ้นที่นำมายำ ทำมาจากใบเครือหมาน้อยมาคั้นจนเป็นวุ้น รสชาติแปลกประหลาด แต่พอได้ฟังแม่แสงดาคุยไปชิมไป ก็เพลินไปกับมื้อเย็นอันมีความสุขนี้ จนไม่อยากให้ถึงเวลาหกโมงเย็นเลย

เฮือนไทลื้อแม่แสงดา ถือเป็นห้องรับแขกของชุมชนไทลื้อในเชียงคำ เพราะมาที่นี่แล้ว เราจะได้ใช้ชีวิตแบบไทลื้อทุกระเบียดนิ้ว และได้คุยกับ แม่แสงดา สมฤทธิ์ ซึ่งปัจจุบันอายุ 89 ปีแล้ว บ้านหลังนี้ไม่ใช่หลังแรกที่แม่แสงดามาอยู่ในเมืองไทย เพราะก่อนหน้านั้นแม่แสงดาต้องช่วยที่บ้านทำงานเพื่อหาเงินช่วยสร้างบ้านหลังนี้ด้วย ในตอนนั้นก็อายุ 17 ปีแล้ว นับเป็นน้ำพักน้ำแรงของแม่จริงๆ

สาวกรุงกำลังสนุกกับชีวิตแบบไทลื้อ จนไม่ยอมลุกไปไหน

นอกจากเมนูไทลื้อชวนชิมแล้ว ที่บ้านแม่แสงดา ซึ่งเป็นส่วนของห้องนอน (แบบไทลื้อ) ก็จัดแสดงสินค้าจากชาวบ้าน ทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระเป๋า และย่ามจิ๋ว ที่เห็นสาวๆ ชาวไทลื้อต้องสะพายกันทุกคน

หนึ่งวันในเชียงคำ ช่างเต็มไปด้วยเรื่องราวที่แสนชุ่มฉ่ำใจ ได้เจอกับคุณพี่ คุณน้า คุณป้า คุณยาย ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ไหนก็อบอุ่นจนเหมือนเครือญาติเดียวกัน

ไทลื้อ เป็น 1 ใน 8 ชาติพันธุ์ที่มาตั้งรกรากในพะเยา หากใครมีโอกาส ก็ใช้เวลาตระเวนเที่ยวเพื่อสัมผัสกับเรื่องราวจากความหลากหลาย เรื่องราวที่มาต่างกัน แต่ไม่ต่างใจ แล้วรอยยิ้มแห่งความสุขของพะเยา ก็จะเป็นหนึ่งความทรงจำที่ทำให้เราคิดถึงและอยากกลับไปเยือนอีกเสมอ

แม่แสงดาชวนทุกคนร่วมทำบุญ และให้พรก่อนกลับ อุ่นใจจริงๆ

……………………………………………………………………………………………………………..

นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเที่ยวชมไทลื้อ ที่ อ.เชียงคำ ได้ด้วยตัวเอง ในตัวหมู่บ้านมีจักรยานให้เช่า หรือ จะเลือกนั่งรถราง ติดต่อประสานงานได้ที่ พี่หยิน ผู้ใหญ่บ้าน โทร.084-483-4188

ขอขอบคุณนางแบบเก๋ๆ ทุกท่าน