ต่าง GEN ไม่ต่างใจ 4 หนังสั้นเปิดทัศนคติ “คุณค่าของผู้สูงอายุ”

166

วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เป็น “วันผู้สูงอายุสากล”  แม้ว่าประเด็นของ “สังคมผู้สูงอายุ” จะปรากฏในข่าวคราวความเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนได้ทราบถึงทิศทางความเป็นไปของสังคมไทย เพื่อเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งตัวผู้สูงอายุเอง คนใกล้ชิด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่จากการสำรวจยังพบว่า มีคนไทยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มองเห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ อีกทั้งยังมีทัศนคติเชิงลบ และนั่นคือเรื่องที่น่าขบคิด เพราะในอนาคต ผู้สูงอายุจะอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน แล้วจะดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างไร หากยังมีทัศนคติผิดๆ  

ไม่นานมานี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไทยพีบีเอส กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร  และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้จัดงาน “ต่าง GEN ไม่ต่างใจ” ดูหนัง-ฟัง- คุย เพื่อคนทุกวัย ภายใต้โครงการฉายภาพยนตร์สั้นและเวทีเสวนาสาธารณะ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม โดยใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากรายงานการติดตามและประเมินผลแผนผู้สูงอายุชาติ ฉบับที่ 2  (พ.ศ. 2545-2564) ระยะที่ 3  (พ.ศ. 2555 – 2559) พบว่า มีประชาชนร้อยละ 38.7 ที่ยังไม่ตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ หรือยังมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำอย่างไรให้คนในสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มองเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ และอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุได้อย่างมีความสุข

สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาการสื่อสารสังคมให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ และมีทัศนคติเชิงบวกต่อวัยสูงอายุให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่เหมาะสมในแก่นักศึกษาด้านภาพยนตร์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นภาพยนตร์สั้นที่สามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจกับสังคม โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นให้มีทัศนคติเชิงบวกต่อผู้สูงอายุ ลดช่องว่างระหว่างวัยอย่างเหมาะสมนี้ จึงถือเป็นเครื่องมือสื่อสารสร้างความตระหนักที่สำคัญ และเป็นความท้าทายที่จะนำผลงานภาพยนตร์สั้นชุดนี้ไปใช้ขยายผลให้เกิดประโยชน์ได้ต่อไป

นางไพรวรรณ พลวัน รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  กล่าวว่า กรมฯ มีภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ นโยบายของรัฐบาลด้านผู้สูงอายุ งานส่งเสริม สนับสนุนศักยภาพ คุ้มครอง พิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในสังคมกับคนทุกวัยได้อย่างมีความสุข

สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อต้องการรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักและเตรียมการเพื่อรองรับการเป็นสังคมสูงอายุที่มีคุณภาพ ส่งเสริมคุณค่า การมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุ เด็ก เยาวชน และคนทุกวัย ให้มีความผูกพัน และเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ กิจกรรมนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผนวกกับการจัดกิจกรรมวันผู้สูงอายุสากล ที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุสากลด้วย สำหรับ Theme วันผู้สูงอายุสากล ในปี นี้ คือ “Celebrating Older Human Rights Champions”

นายสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส กล่าวว่า กิจกรรม “ต่าง Gen ไม่ต่างใจ” เกิดขึ้นเพราะเราเห็นว่าสื่อปัจจุบันค่อนข้างมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่แน่นอน ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ก็ตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ ตรงนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยขยายวงกว้างออกไป ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนหลายวัยอยู่ร่วมกันในสังคมนี้อย่างเข้าใจกันมากขึ้น ในฐานะสื่อสาธารณะเราเล็งเห็นพลังของสื่ออย่างภาพยนตร์ เราจึงดึงคนรุ่นใหม่จากสามสถาบันการศึกษามาผลิตภาพยนตร์สั้นเพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสสื่อสารประเด็นสาธารณะอย่างสังคมสูงอายุผ่านมุมมอง ความเข้าใจของคนรุ่นใหม่โดยคาดหวังว่ากระบวนการผลิตภาพยนตร์ ตั้งแต่การคิดงาน เขียนบท ถ่ายทำ จนนำไปสู่การเผยแพร่ออกมานั้นจะช่วยให้คนต่างวัยเกิดความเข้าใจกันและกันมากขึ้น และท้ายที่สุดก็หวังว่าภาพยนตร์สั้นทั้ง 4 เรื่องนั้นจะทำให้เราซึ่งหมายถึงคนทุกวัยในสังคมนี้ได้สำรวจ หาความหมายและทบทวนการอยู่ร่วมกันในช่วงเวลาที่ผ่านมาซึ่งจะนำไปสู่การร่วมออกแบบสังคมผู้สูงอายุในอนาคตให้ดีกว่าเดิมท่ามกลางสังคมที่มีความหลากหลายและซับซ้อนขึ้น

ด้านนายพัฒนะ จิรวงศ์ ผู้กำกับมือรางวัล และผู้กำกับภาพยนตร์สั้น “สุดไกลตา” กล่าวว่า แนวคิดหลักของโครงการผลิตภาพยนตร์ทั้ง 4 เรื่อง คือ การเล่าเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมของคนทุกวัย โดยเน้นความสำคัญไปที่ผู้สูงอายุตามโจทย์ของโครงการฯ เราตั้งต้นที่คำว่าการอยู่ร่วมกันและมีตัวละครผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลางของเรื่อง เพื่อจะเห็นถึงความสัมพันธ์ที่โยงไปสู่คนวัยอื่นๆ โดยสาระสำคัญที่จะลดช่องว่างระหว่างวัยอยู่ที่ “การที่เราต้องเห็นคุณค่าของคนอื่น” เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราเห็นคุณค่าในตัวคนอื่น เราจะอยากรักษาเขาไว้อย่างดีที่สุด

ภาพยนตร์ชุดนี้จึงเป็นคำสัญญาว่าสังคมของเราจะก้าวไปพร้อมกันและอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าเราจะแตกต่างกันด้วยอายุก็ตาม สำหรับการได้ร่วมงานกับเด็กรุ่นใหม่ทำให้เห็นแง่มุมทางความคิดของน้องๆ ที่น่าสนใจ เพราะพวกเขาจะเริ่มจากการได้กลับไปทบทวนความสัมพันธ์ของพวกเขากับคนสูงอายุที่ครอบครัวของเขา ไม่ว่ามันจะดี สวยงาม หรือเคยทะเลาะอะไรกันมา และที่ได้เรียนรู้อีกอย่างคือพวกเขาไม่ได้ปฏิเสธคนสูงอายุ เพียงแต่เขาไม่มีโอกาสได้เข้าถึงใกล้ชิดคนสูงอายุเหล่านั้นมากกว่า

สำหรับภาพยนตร์สั้นทั้ง 4 เรื่อง ได้แก่ 1 “Relations Chick” กำกับการแสดงโดย ศิวัชญา ศิวโมกษ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร 2. “Tester” กำกับการแสดงโดย กฤติน ทองใหม่ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและ  3. ภาพหน้าร้อนที่หายไป” กำกับการแสดงโดย มนธิการ์ คำออน  จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 4. สุดไกลตา” กำกับการแสดงโดย “พัฒนะ จิรวงศ์” ผู้กำกับภาพยนตร์สั้นมือรางวัล

นอกจากจะเปิดให้เข้าชมที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในวันที่ 26 กันยายน 2561 แล้ว  ภาพยนตร์ชุดดังกล่าวทั้ง 4 เรื่องจะถูกเผยแพร่อออกอากาศทางไทยพีบีเอสในรายการ Talk to Films ซึ่งออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 14.00 น. ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2561