เป็นภาพที่รบกวนสายตา และสร้างความกังวลใจมานานแสนนาน สำหรับบความรกรุงรังของสายสื่อสาร ที่พัวพันอีรุงตุงนังอยู่บนเสาไฟฟ้า จนหลายคนคิดว่า มันคือมุมมองที่น่ากลัวสุดๆ ล่าสุด ได้รับข่าวดีจากทางการไฟฟ้านครหลวงแล้วว่า ขณะนี้มีการคิดค้นเทคโนโลยีอย่างง่าย เพื่อจัดการปัญหาเหล่านี้ได้แล้ว
นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า จากกรณีปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง ที่เกิดขึ้นจากการลักลอบพาดสายโดยไม่ได้รับอนุญาต และการติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน จนทำให้เกิดปัญหาด้านทัศนียภาพ รวมถึงอุบัติเหตุต่างๆ เช่น รถเกี่ยวสายสื่อสารเหนี่ยวรั้งเสาไฟฟ้าล้ม และปัญหาเพลิงไหม้สายสื่อสาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้า และความปลอดภัยของประชาชน
ดังนั้น กฟน. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลระบบไฟฟ้า และอุปกรณ์การจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ จึงคิดค้นวิธีแก้ไขปัญหาตลอดมา ล่าสุด กฟน. ได้ทดสอบใช้เทคโนโลยีใหม่สำเร็จโดยใช้ท่อไมโครดักท์ติดตั้งบนเสาไฟฟ้าเพียงท่อเดียวเพื่อนำสายสื่อสารร้อยในท่อเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่ถนนราชวิถี ฝั่งเหนือ ซอยคู่ (ตั้งแต่แยกถนนขาว – แยกการเรือน) เป็นระยะทาง 730 เมตร มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม ถึง ตุลาคม 2561 เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันยังรองรับสายสื่อสารได้เป็นจำนวนมาก และสามารถควบคุมดูแลสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าได้อย่างเบ็ดเสร็จอีกด้วย
สำหรับโครงการติดตั้งท่อไมโครดักท์ครั้งนี้ เป็นการนำเทคโนโลยี SOCC (Single Overhead Communication Cable) เป็นการประยุกต์ใช้ท่อ Aerial Microduct ที่ใช้รองรับสายสื่อสารลงใต้ดิน นำมาติดตั้งบนเสาไฟฟ้าเพื่อวางสายสื่อสารในอากาศ ร้อยสายด้วยระบบ Air Blown System โดยท่อมีคุณสมบัติพิเศษของสายสะพาน (Messenger Wire) ประเภทพลาสติกชนิด FRP (Fiber/Fiberglass Reinforce Plastic) ที่มีความเหนียวแข็งแรงพิเศษ ไม่ใช้เหล็กหรือลวดสลิง ใช้ติดตั้งยึดติดกับเสาไฟฟ้า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ท่อจะทำให้ขาดออกไม่ส่งผลเหนี่ยวรั้งทำให้เสาไฟฟ้าหักหรือล้มแต่อย่างใด ท่อมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 เซนติเมตร สามารถรองรับสายสื่อสารใยแก้วนำแสงได้สูงสุดจำนวน 672 core เพียงพอกับสายสื่อสารในปัจจุบันที่มีอยู่ จำนวน 168 core เมื่อร้อยสายสื่อสารใหม่เสร็จสิ้นแล้ว สายสื่อสารเดิมจะถูกรื้อถอนออกไปคงเหลือท่อไมโครดักท์เพียงท่อเดียวบนเสาไฟฟ้า เท่านั้น ในส่วนลำดับขั้นตอนการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1.ติดตั้งท่อร้อยสาย (Aerial Microduct) 2.ติดตั้งตู้เชื่อมต่อสาย (Outdoor Cabinet) 3.ติดตั้งสายเคเบิลสื่อสาร (Air Blow Cable) และ 4.หน่วยงานฯ และผู้ประกอบกิจการฯ ติดตั้งเชื่อมต่อสายเข้าระบบเพื่อใช้งาน
สำหรับโครงการติดตั้งท่อไมโครดักท์ในอนาคต กฟน. ได้กำหนดแผนการดำเนินการใน 7 เส้นทาง ได้แก่
- ถนนสาทร (แยกถนนเจริญกรุง – แยกถนนพระราม 4) ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร
- ถนนพระราม 4 (แยกถนนราชดำริ – สถานีไฟฟ้าย่อยคลองเตย) ระยะทาง 2.3 กิโลเมตร
- ถนนสารสิน (แยกถนนราชดำริ – แยกถนนวิทยุ) ระยะทาง 0.8 กิโลเมตร
4.ถนนชิดลม (แยกถนนเพชรบุรี – แยกถนนเพลินจิต) ระยะทาง 0.7 กิโลเมตร
5.ถนนหลังสวน (แยกถนนเพลินจิต – แยกถนนสารสิน) ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร
6.ถนนเจริญราษฎร์ (แยกถนนพระราม 3 – แยกถนนสาทร) ระยะทาง 3.8 กิโลเมตร
7.ถนนอังรีดูนังต์ (แยกถนนพระราม 1 – แยกถนนพระราม 4) ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร
รวมระยะทางทั้งสิ้น 14.3 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 6 แสนบาท ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร
ทั้งนี้ กฟน. จะประสานผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือดำเนินการเพื่อให้การแก้ไขปัญหาสายสื่อสารมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยเทคโนโลยีไมโครดักท์ เมื่อโครงการนี้สำเร็จจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาสายสื่อสาร พร้อมทั้งการสร้างระบบไฟฟ้าที่มั่นคง และทัศนียภาพที่สวยงาม เดินหน้าสร้างมหานครแห่งอาเซียน Smart Metro อีกทั้ง กฟน. พร้อมเป็นผู้นำในการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อขยายผลการแก้ไขปัญหาสายสื่อสารรกรุงรังของประเทศต่อไป