เกาะติดโรคชิคุนกุนยา ชุกชุมในภาคใต้ เหตุฝนตกหนักน้ำขัง

175

ในช่วงที่มีฝนตกหนัก ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และอาจะก่อให้เกิดโรคที่นอกเหนือจากไข้เลือดออก นั่นคือ  โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุนกุนยา  ซึ่งมีอาการคล้ายๆ กับไข้เลือดออก แต่ทุกคนสามารถป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดโรคนี้ได้ ด้วยการทำตามคำแนะนำต่างๆ ต่อไปนี้

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์ของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา ในปี 2561 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 355 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต เป็นสัญชาติไทยทั้งหมด 354 ราย สัญชาติพม่า 1 ราย  จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ  สตูล นราธิวาส สงขลา กระบี่ ตรัง  ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือภาคใต้ รองลงมาคือภาคกลาง จากข้อมูลพบว่าตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา มีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ (วันที่ 30 ก.ย.-6 ต.ค. 61)ในช่วงนี้ คาดว่ามีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนและมีฝนตกต่อเนื่องทั่วทุกภาคของประเทศไทย อาจเกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ทำให้เอื้อต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ  มีอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก และมักมีอาการปวดข้อเพิ่มเติม ไวรัสติดต่อจากคนสู่คนได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ควรร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเน้นใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ

  1. เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ขัดล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์
  2. เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และนำวัสดุเหลือใช้นำไปขายเป็นรายได้เสริม
  3. เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

ทั้งนี้จะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ โรคไข้เลือดออก  โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และไข้ปวดข้อยุงลาย  สำหรับผู้ที่มีประวัติถูกยุงลายกัด หรือในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะในภาคใต้ที่มีผู้ป่วยมากกว่าพื้นที่อื่นๆ หรือบุคคลทั่วไป

หากพบว่ามีอาการป่วยด้วยไข้สูงเฉียบพลัน ผื่นขึ้นตามร่างกาย ตาแดง ปวดข้อเล็กๆ หลายตำแหน่ง ให้รีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”