WHO เผยชุดมาตรการ SAFER ไทยขานรับ ลดป่วย-ตายจากแอลกอฮอล์

396
ภาพ http://www.who.int/

สธ.-สสส. ร่วมประชุมคู่ขนาน UN แลกเปลี่ยนวิธีควบคุมน้ำเมาภายในประเทศ ขานรับชุดมาตรการ SAFER สนับสนุนทั่วโลกลดผลกระทบบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไฟเขียวยกระดับมาตรการควบคุมทุกรูปแบบ

พญ.ซุมยา สวามินาถัน

พญ.ซุมยา สวามินาถัน รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวในเวทีคู่ขนานของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ (UN High Level Meeting on Prevention and Control of NCDs) ในหัวข้อ “แอลกอฮอล์ กับ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Alcohol, NCDs and Sustainable Development) เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนบทเรียนความสำเร็จจากการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และองค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่ชุดมาตรการ SAFER เป็นครั้งแรก เพื่อให้ทั่วโลกนำไปปรับใช้ในการลดอัตราการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตของประชากรจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกอบไปด้วย “Strengthen (S)” เสริมประสิทธิภาพการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เข้มแข็งมากขึ้น

“Advance (A)” ยกระดับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดอัตราการดื่มแล้วขับ

“Facilitate (F)” สนับสนุนการเข้าถึงการบำบัดและรักษาโรคจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“Enforce (E)” บังคับใช้กฎหมายการห้ามหรือจำกัดการโฆษณา การให้ทุน และการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลแอฮอล์

“Raise (R)” ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อเพิ่มราคาให้สูงขึ้น โดย WHO พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้และคำแนะนำแก่ประเทศสมาชิก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกรอบองค์การอนามัยโลกและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนงานแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้นมาโดยตลอด และประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพึงพอใจ อันเป็นผลมาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ พ.ศ.2551 ทำให้เกิดกลไกการควบคุมในระดับชาติ คือคณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน) ประกอบกับประเทศไทยได้ประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์โลกว่าด้วยการควบคุมอันตรายจากแอลกอฮอล์ ปี 2553 จึงเกิดการกำหนดแนวทางการทำงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมาตรการที่คุ้มทุนและมีประสิทธิผล (best-buy policies) เพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนปรับกระบวนทัศน์ใหม่ของสังคม ให้การดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ ด้วยการรณรงค์ผ่านช่องทางการตลาดเพื่อสังคม สนับสนุนเครือข่ายคนรุ่นใหม่ไร้แอลกอฮอล์ และส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์หรือเทศกาลปลอดเหล้า เป็นต้น

“สิ่งที่ยังท้าทายหลายประเทศอยู่ในเวลานี้คือ ปัจจัยการค้ากำหนดสุขภาพ จากการที่ธุรกิจการค้าพยายามแทรกแซงนโยบาย และใช้กลยุทธ์ทางการตลาดสารพัดรูปแบบเพื่อทำให้แอลกอฮอล์เข้าถึงประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางคือเด็กและเยาวชน ดังนั้น ประเทศไทยจึงเห็นด้วยกับชุดมาตรการ SAFER ขององค์การอนามัยโลก ที่จะกระตุ้นให้ประเทศไทยและประเทศสมาชิกทั่วโลกขับเคลื่อนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้รุดหน้าต่อไปอย่างมีทิศทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการบริโภคแอลกอฮอล์ในระดับที่อันตรายลง 10% ให้ได้ภายในปี 2568” ผจก.กองทุน สสส. กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศที่มีบทบาทหลักบนเวทีคู่ขนาน ประกอบไปด้วย สโลวีเนีย ศรีลังกา ลิทัวเนีย รัสเซีย สวีเดน เอสโตเนีย ฟิลิปปินส์ ซูรินาม และไทย ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงจาก WHO และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) รวมถึงผู้แทนจากภาคประชาสังคมนานาชาติที่ทำงานต่อต้านพิษภัยจากสุรา อาทิ NCD Alliances, IOGT International และ Vital Strategies