นักวิชาการหนุนปรับภาษียาสูบ ชี้สัญญานนักสูบหน้าใหม่ลดลง

37

นักวิชาการ ยันมาตรการภาษีควบคุมยาสูบดีที่สุด มีผลเปลี่ยนพฤติกรรมนักสูบทันที ควรปรับภาษียาสูบให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ ทำควบคู่มาตรการเสริมอย่างเข้มข้น ช่วยสิงห์อมควันเลิกสูบถาวร ชี้ไทยมีสัญญาณดี มีนักสูบหน้าใหม่กลุ่มเด็ก เยาวชนลดลง

ดร.ศรัณญา เบญจกุล อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบที่ดีที่สุดที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ มาตรการภาษี ซึ่งจำเป็นต้องขึ้นภาษีอย่างต่อเนื่องตามอัตราเงินเฟ้อ เพราะหากปล่อยให้ราคาคงเดิมจะเท่ากับราคาบุหรี่ลดลงทุกปี ซึ่งหมายถึงบุหรี่มีราคาถูกลง เมื่อเปรียบเทียบกับอำนาจซื้อ ทั้งนี้ มาตรการภาษีไม่สามารถใช้เพียงลำพังได้ เพราะเมื่อบุหรี่ราคาแพงขึ้นคนจะชะงัก และมองหาบุหรี่ที่ราคาถูกกว่ามาสูบแทน จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุม อาทิ การควบคุมไม่ให้มีการแบ่งมวนขาย หรือ ควบคุมไม่ให้มีบุหรี่เถื่อน โดยเฉพาะการแบ่งมวนขายจะทำให้คนไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการสูบ เพราะยังสามารถหาบุหรี่ราคาถูกได้

“มาตรการทางภาษี ถือเป็นมาตรการที่ได้ผลที่สุดในการควบคุมการบริโภคยาสูบ เพราะจะทำให้นักสูบเปลี่ยนพฤติกรรมทันที แต่หากจะทำให้การควบคุมยาสูบได้ผลดียิ่งขึ้น จำเป็นต้องทำควบคู่กับมาตรการอื่นๆ โดยเฉพาะ 1-2 เดือนแรก หลังใช้มาตรการทางภาษีต้องเร่งให้ความรู้ประชาชนถึงพิษภัยของบุหรี่ สนับสนุนการช่วยเลิกบุหรี่ และเฝ้าระวังการโฆษณาและส่งเสริมการขายบุหรี่ เพื่อให้สามารถเลิกบุหรี่ได้อย่างถาวร” ดร.ศรัณญา กล่าว

ดร.ศรัณญา กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การควบคุมยาสูบของไทยโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนนั้น จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ในปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผลจากทำงานป้องกันนักสูบหน้าใหม่ของภาคส่วนต่างๆ สามารถลดสัดส่วนการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชนลง เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 โดยเด็กที่เริ่มสูบบุหรี่อายุต่ำกว่า 12 ปี ลดลงได้ครึ่งหนึ่ง นักสูบอายุ 13-15 ปี สามารถลดลงได้ 10% ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ในการลดนักสูบหน้าใหม่ นอกจากนี้ยังพบว่า อายุเฉลี่ยของเยาวชนที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรก เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมเฉลี่ยที่ 18.03 ปี เพิ่มเป็นอายุเฉลี่ย 18.14 ปี ในปี 2560 ส่วนจำนวนเยาวชนอายุ 15-19 ปีที่สูบบุหรี่ ก็ลดลงเช่นกัน จากปี 2557 จำนวน 5.48 แสนคน ลดลงเหลือ 4.47 แสนคน ในปี 2660

ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพภาคีด้านการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบที่ประเทศไทยใช้ ถือว่าเป็นการปฎิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกอย่างครอบคลุม คือ ใช้ทั้งมาตรการทางภาษี มาตรการบังคับใช้กฎหมาย มาตรการการรณรงค์เพื่อให้ความรู้ประชาชน โดยพบว่าประชากรในเขตเมือง เริ่มมีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องกระจายมาตรการเหล่านี้ไม่ให้กระจุกตัวในเมือง เพื่อทำให้เกิดการเลิกบุหรี่อย่างครอบคลุม ซึ่งปัจจุบันมีนโยบายจังหวัดปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ  มีคณะกรรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานได้เดินหน้ากลไกการควบคุมการบริโภคยาสูบระดับจังหวัด ทำให้มาตรการควบคุมยาสูบมีความเข้มข้น และได้ผลดียิ่งขึ้น

“ภาคประชาสังคมถือว่ามีส่วนสำคัญในการเสริมประสิทธิภาพการทำงานทำให้มาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายปกป้องนักสูบหน้าใหม่, โรงเรียนปลอดบุหรี่, GenZ  Gen Strong รู้ทันพิษภัยบุหรี่, การรณรงค์ให้เกิดกระแสบ้านปลอดบุหรี่, สถานประกอบการปลอดบุหรี่, การให้บริการเลิกบุหรี่ในสถานบริการสุขภาพ,  ร้านยาอาสาพาเลิกบุหรี่, Quitline 1600 และ อสม.ช่วยเลิกบุหรี่ในชุมชน ” ผศ.ดร.ลักขณา กล่าว