ด้วยหน้าที่การงาน การติดต่อสื่อสารอย่างไม่สิ้นสุดในยุคดิจิทัล และภาระต่างๆ ที่ล้วนเพิ่มขึ้น จนทำให้หลายคนต้องเผชิญกับความเครียด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนมากขึ้นหันมาออกเดินทางท่องเที่ยวคนเดียว เพื่อหลีกหนีเรื่องวุ่นวายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แต่จะด้วยเหตุผลใด เป็นแบบไหน ลองไปดูกัน
จากผลการสำรวจโดย อโกด้า หนึ่งในผู้ให้บริการห้องพักออนไลน์ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก (OTA) ในหัวข้อ เทรนด์การท่องเที่ยวคนเดียว ปี 2018 (Solo Travel Trends 2018) พบว่านักเดินทางหลายคนเลือกที่จะท่องเที่ยวคนเดียวเพื่อไปพักผ่อน คลายเหนื่อยจากแรงกดดันในการใช้ชีวิตปัจจุบัน
ผลการสำรวจ เทรนด์การท่องเที่ยวคนเดียว ปี 2018 ของอโกด้า ซึ่งจัดทำโดย YouGov พบว่า แรงจูงใจอันดับหนึ่งสำหรับการไปท่องเที่ยวคนเดียวของนักเดินทางทั่วโลก คือโอกาสที่จะได้ไปพักผ่อนให้ผ่อนคลายสบายใจ ซึ่งเท่ากับ 61% ซึ่งแรงจูงใจนี้เทียบเท่ากับ 48% เมื่อเดินทางกับกลุ่มเพื่อน แรงจูงใจอันดับสอง 52% คือการได้ทำอะไรที่แตกต่างจากกิจวัตรเดิมๆ ส่วนแรงจูงใจอันดับสามของนักเดินทาง 45% คือการได้สำรวจวัฒนธรรมต่างแดน
พฤติกรรมที่แตกต่างของเอเชียและตะวันตก
น่าสนใจว่าในฝั่งเอเชีย ความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวเกิดขึ้นในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ โดยเป็นกลุ่มคนมิลเลนเนียล (Millennials) 41% และ เจเนอเรชั่น ซี (Generation Zers) 38% ขณะที่ในฝั่งตะวันตกการท่องเที่ยวคนเดียวเป็นที่นิยมในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่าอย่าง เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomers) 39% และ เจเนอเรชั่น เอ็กซ์ (Generation Xers) 24%
34% ของนักท่องเที่ยวจากฝั่งตะวันตกที่เดินทางคนเดียวมักใช้เวลาในการท่องเที่ยวราว 4-7 คืน ซึ่งยาวกว่านักท่องเที่ยวชาวเอเชีย โดย 46% ของนักท่องเที่ยวชาวเอเชียกลุ่มมิลเลนเนียล และ เจเนอเรชั่น ซี ใช้เวลาเที่ยวราว 1-3 คืนต่อทริป นอกจากนี้เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกกับชาวเอเชียที่เลือกที่จะท่องเที่ยวมากกว่า 14 คืนยังแตกต่างกันเท่าตัว (20% ต่อ 10%)
เผยลุยเดี่ยวติดจอมากกว่า
ไม่น่าแปลกใจนักเมื่อผลสำรวจพบว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางคนเดียวใช้เวลากับคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือมากกว่านักท่องเที่ยวประเภทอื่นๆ เฉลี่ยราวสองชั่วโมงต่อวัน (119 นาที) ซึ่งมากกว่าเวลาที่ไปกับเพื่อน 15% (100 นาที) และเมื่อไปกับครอบครัว 26% (86 นาที)
นักท่องเที่ยวชาวเอเชียที่เดินทางคนเดียวติดการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลมากกว่าชาวยุโรปถึง 2 เท่า (31% ต่อ 12%) โดยชาวเอเชียใช้เวลาราว 4 ชั่วโมงต่อวันอยู่กับหน้าจอ
จุดหมายยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางคนเดียว ปี 2018 | ||
อันดับ | นักท่องเที่ยวชาวเอเชีย | นักท่องเที่ยวชาวตะวันตก |
1 | กรุงเทพฯ, ประเทศไทย | ลอนดอน, สหราชอาณาจักร |
2 | กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย | โตเกียว, ญี่ปุ่น |
3 | โตเกียว, ญี่ปุ่น | ซิดนีย์, ออสเตรเลีย |
4 | สิงคโปร์ | เมลเบิร์น, ออสเตรเลีย |
5 | ฮ่องกง | นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา |
6 | โฮจิมินห์ซิตี้, เวียดนาม | กรุงเทพฯ, ประเทศไทย |
7 | มะนิลา, ฟิลิปปินส์ | ลอสแอนเจลิส, สหรัฐอเมริกา |
8 | บาหลี, อินโดนีเซีย | ลาสเวกัส, สหรัฐอเมริกา |
9 | จาการ์ตา, อินโดนีเซีย | สิงคโปร์ |
10 | เชียงใหม่, ประเทศไทย | ปารีส, ฝรั่งเศส |
เมืองที่มีความเป็นสากลติดอันดับความนิยม
ไม่ว่าจะเดินทางเพื่อไปทำธุรกิจ เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หรือเพื่อ “bleisure” (การท่องเที่ยวทั้งเพื่อธุรกิจและพักผ่อน) นักเดินทางคนเดียวทั้งหลายล้วนมุ่งหน้าไปยังเมืองที่มีความเป็นสากล จากข้อมูลการจองห้องพักของอโกด้า พบว่า กรุงเทพฯ เป็นจุดหมายยอดนิยมสำหรับนักเดินทางคนเดียวชาวเอเชียในปีนี้ ขณะที่ลอนดอน (สหราชอาณาจักร) คือจุดหมายอันดับหนึ่งสำหรับนักเดินทางคนเดียวชาวตะวันตก ทั้งสองเมืองมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย ซึ่งทำให้นักเดินทางคนเดียวทั้งหลายเพลิดเพลินไปกับแหล่งช้อปปิ้งและสถานบันเทิงยามค่ำคืนอันหลากหลาย วัฒนธรรม และอาหารการกินที่น่าสนใจ
โตเกียว (ญี่ปุ่น) เป็นหนึ่งในสามเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากทั้งนักท่องเที่ยวชาวเอเชียและชาวตะวันตกที่เดินทางคนเดียว เนื่องจากความหลากหลายของทั้งอาหาร วัฒนธรรม และที่พัก ซึ่งมีตั้งแต่โรงแรมแคปซูล ไปจนถึงบ้าน และที่พักตากอากาศหรูระดับ 5 ดาว โตเกียวจึงเหมาะกับนักเดินทางคนเดียวเป็นอย่างยิ่ง
ข้อมูลเกี่ยวกับการสำรวจ
- การสำรวจของอโกด้า เกี่ยวกับ ‘เทรนด์การท่องเที่ยวคนเดียว ปี 2018’ จัดทำขึ้นโดยบริษัทวิจัยตลาดอิสระ YouGov ระหว่างวันที่ 19-25 มิถุนายน 2018 ผ่านการสัมภาษณ์ออนไลน์จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 10,784 ราย ประกอบด้วยผู้ตอบแบบสอบถามจากสหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ไทย และจีน โดยผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเดินทางท่องเที่ยวอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีที่ผ่านมา
- ข้อมูลการจองห้องพักของอโกด้า เป็นข้อมูลที่เก็บระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 2018
- ‘ชาวเอเชีย’ ในที่นี้หมายถึง นักท่องเที่ยวจากประเทศจีน, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม
- ‘ชาวตะวันตก’ ในที่นี้ หมายถึง นักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย
- ‘Generation Z’ ในที่นี้หมายถึง กลุ่มคนอายุ 18-25 ปี
- ‘Millennials’ หมายถึง กลุ่มคนอายุ 26-38 ปี
- ‘Generation X’ หมายถึง กลุ่มคนอายุ 39-58 ปี
- ‘Baby Boomers & Older’ หมายถึง กลุ่มคนอายุ 59 ปีขึ้นไป