อุบัติเหตุบนถนนคร่า 60 ชีวิตต่อวัน ร่วมผลักดันนโยบาย “รถโดยสาร” ต้องปลอดภัย  

87

ยังคงเป็นประเด็นทางสังคมที่ต้องหาทางออกให้ได้ กับปัญหาระหว่างผู้บริโภคกับรถโดยสาร ซึ่งแต่ละปีมีตัวอย่างให้เห็นทั้งที่เป็นข่าวและที่เล่าสู่กันฟังในแวดวงเพื่อนฝูง เพราะทุกคนล้วนเจอปัญหาเหล่านี้ด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย ที่นำมาซึ่งอุบัติเหตุที่สร้างความสูญเสียต่อร่างกายและทรัพย์สิน โดยล่าสุด สสส. ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จัดเวทีถอดบทเรียนการทำงาน 10 ปี รถโดยสารสาธารณะ – รถรับส่งนร. ปลอดภัย หวังผลักดันสู่นโยบายระดับประเทศ

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเวทีสมัชชาบทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย ว่า จากสถานการณ์ผู้บริโภคและรายงานรับเรื่องร้องเรียนประจำปี 2560 โดยเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบปัญหาการบริการสาธารณะได้รับการร้องเรียนสูงเป็นอันดับ 5  มีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 424 เรื่อง จากทั้งหมด 3,615 เรื่อง

โดยรถตู้โดยสารสาธารณะมากที่สุด 116 เรื่อง รองลงมาคือ รถสองแถว 73 เรื่อง รถรับส่งนักเรียน 42 เรื่อง และรถทัวร์โดยสาร 35 เรื่อง สสส. และภาคีเครือข่ายให้ความสำคัญและได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนมาตลอดกว่า 10 ปี  โดยเฉพาะปัญหารถโดยสารสาธารณะที่เกิดอุบัติเหตุและสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล  และเมื่อเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง จะพบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุขนาดใหญ่

 นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ

กลไกสำคัญในการแก้ปัญหานอกจากการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ การพัฒนามาตรฐานและการให้บริการรถโดยสารที่ช่วยลดอุบัติเหตุลงได้แล้ว การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวัง และเยียวยากรณีเกิดความเสียหาย รับเรื่องร้องเรียน คดีฟ้องร้องต่างๆ ถือว่ามีบทบาทช่วยสร้างความเป็นธรรมกับผู้บริโภคและประชาชนได้มาก

นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึง มติจากเวทีสมัชชาบทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะปลอดภัยว่า ทุกภาคส่วนมีข้อเสนอให้กำหนดประเด็นรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยเข้าสู่วาระหรือนโยบาย ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ท้องถิ่น จังหวัด และประเทศ โดยเสนอให้มีหน่วยงานเจ้าภาพหลักบริหารจัดการรถโรงเรียน ทำให้รถทุกคันเข้าสู่ระบบ มีกระบวนการติดตามคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันได้เสนอแนะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บูรณาการทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และกรมการขนส่งทางบก ส่วนการพัฒนาในระดับบุคคลนั้น เสนอให้มีการสนับสนุนให้มีการสร้างจิตสำนึกด้วยการพัฒนาศักยภาพ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์นิรภัยและเรียนรู้การแก้ไขสถานการณ์ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนนและรถโดยสารสาธารณะ

นายนิกร จำนง

ด้าน นายนิกร จำนง ประธานมูลนิธิประชาปลอดภัย กล่าวว่า อัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยเฉลี่ย 60 รายต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือลดอัตราการเสียชีวิตอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่กำลังจะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ โดยขอเสนอให้กวดขันรถโรงเรียนและรถรับส่งนักเรียนเป็นไปตามกฎหมาย การปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับตัวรถโรงเรียนและรถรับส่งนักเรียน ตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างสถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น