หลงลืมแบบไหนเรียก “อัลไซเมอร์” แนะ 6 วิถีคนสูงวัย ป้องกันได้

26

อัลไซเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง พบบ่อยในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยพบในหญิงมากกว่าชาย เป็นการสูญเสียความสามารถทางสมอง โดยเฉพาะความจำระยะสั้นที่จะเสียไป รวมถึงความเฉลียวฉลาด การใช้เหตุผล ภาษา การคิด การตัดสินใจ อาจมีอาการทางจิตร่วมด้วย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หากมีอาการเช่นนี้ควรรีบพบแพทย์ระบบประสาทหรือจิตแพทย์โรคอัลไซเมอร์โดยด่วน

อาการหลงลืมแตกต่างจากโรคอัลไซเมอร์อย่างไร อาการหลงลืมตามวัย ได้แก่ หลงลืมเรื่องที่ไม่สำคัญ ไม่บ่อย และต้องไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน อาการหลงลืมตามวัยนี้จะสามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ ถ้ามีความตั้งใจที่จะจดจำอย่างจริงจัง จดบันทึก เตือนตัวเองโดยวิธีการต่างๆ ฝึกตัวเองให้มีสติอยู่เสมอ จะช่วยลดอาการหลงลืมให้น้อยลงได้ เราสามารถสังเกตอาการของโรคอัลไซเมอร์ได้ จากข้อมูลดีๆ โดย ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ดังนี้

  1. ความเข้าใจภาษาลดลง ใช้ภาษาไม่ถูกต้อง เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก อาจหยุดพูดกลางคันและไม่รู้ว่าจะต้องพูดอะไรต่อ หรือพูดย้ำกับตัวเอง รวมถึงอาจพูดน้อยลง
  2. สับสนเรื่องเวลาหรือสถานที่ อาจลืมว่าตอนนี้ตนอยู่ที่ใดและเดินทางมายังสถานที่นั้นได้อย่างไร
  3. ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้มาก่อน เช่น ลืมวิธีการเปลี่ยนช่องทีวี
  4. บกพร่องในการรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ทราบว่าของสิ่งนี้มีไว้ทำอะไร หรือไม่สามารถแยกแยะรสชาติหรือกลิ่นได้
  5. บกพร่องในการบริหารจัดการ และตัดสินใจแก้ไขปัญหา ไม่กล้าตัดสินใจหรือตัดสินใจผิดพลาดบ่อยๆ
  6. บกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ไม่สามารถไปไหนตามลำพังได้
  7. บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า เฉื่อยชา โมโหฉุนเฉียวง่ายโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน เห็นภาพหลอน หวาดระแวง

ทำอย่างไรให้ห่างไกลอัลไซเมอร์

  1. ไม่ควรอยู่กับบ้านเฉยๆ ควรทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ
  2. ร่วมกิจกรรมทางสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น อาสาสมัคร ชมรมต่างๆ
  3. ออกกำลังกาย แอโรบิค โยคะ เดินในที่อากาศโปร่ง
  4. เล่นกีฬาที่มีการฝึกสมอง เช่น หมากรุก หมากฮอส ช่วยให้ใจสงบ มีสมาธิ และเป็นการปรับร่างกายให้เข้าสู่ภาวะสมดุลและกระตุ้นสมองให้คิดและวางแผน ตัดสินใจ ทำให้สมองแข็งแรงและทำงานอย่างสมดุล
  5. ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวมือ เท้า และประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้เกิดการเชื่อมโยงของระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาทและสมองส่วนต่างๆ ให้ทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ ทำจิตใจให้แจ่มใส และฝึกสมองให้มีการใช้ความคิด ความจำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังดนตรี ร้องเพลง เต้นรำ
  6. สิ่งสำคัญคือต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลาย งดเหล้าและบุหรี่ และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาวะสมองเสื่อม

เพียงเท่านี้  เราก็สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นของการเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ หรือสามารถขอคำปรึกษาได้จากทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด (โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (จังหวัดสมุทรปราการ) โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ (จังหวัดนครสวรรค์) โรงพยาบาลพิษณุเวช (จังหวัดพิษณุโลก) และโรงพยาบาลสหเวช (จังหวัดพิจิตร)) และสามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่ www.princhealth.com