“เคยมั้ย…อยากให้มอเตอร์ไซค์เป็นของขวัญลูก ลองคิดดูอีกทีว่าพวกเขาพร้อมหรือยัง ทั้งอายุ ความสามารถในการขับขี่ การตัดสินใจ ความคึกคะนองตามช่วงวัย เพราะไม่เช่นนั้นของขวัญชิ้นนี้อาจกลายเป็นมัจจุราชพรากชีวิตลูกของเราก็ได้”
ถ้อยคำที่ชวนให้สะท้อนคิด เพราะปัจจุบันนี้วิถีบนท้องถนนของเยาวชนไทย ยังคงเป็นเรื่องที่น่าห่วง และเป็นประเด็นสังคมที่ได้รับความสนจากทุกฝ่าย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “มอไซค์วัยละอ่อน…ของขวัญหรือมัจจุราช” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยภายในงานมีการแสดงละครจำลองสถานการณ์ความสูญเสีย จากการที่แม่ให้มอเตอร์ไซค์เป็นของขวัญกับลูก
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทย ข้อมูลจากใบมรณบัตรแสดงให้เห็นว่า ในแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 2,510 ราย กว่า 80% เกิดจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ ตัวเลขดังกล่าวเทียบเท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่ 1 โรงเรียนหายไปในแต่ละปี ซึ่งกลุ่มอายุ 15-19 ปี เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตสูงสุด เฉลี่ยปีละ 1,688 ราย จากการขับขี่เพื่อเดินทางไปโรงเรียนหรือในชีวิตประจำวัน พฤติกรรมเสี่ยงที่พบคือ ขับเร็ว ย้อนศร ไม่สวมหมวกนิรภัย และส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ โดยเป็นกลุ่มอายุน้อยกว่า 15 ปี เฉลี่ยปีละ 822 ราย ที่น่าตกใจคือเด็กอายุน้อยที่สุด เริ่มขับขี่จักรยานยนต์ตั้งแต่ 7 ขวบ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขทั้งหมดนี้จะสูงขึ้นอีก 20-30% หากรวมกับฐานข้อมูลประกันภัยและตำรวจ
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อว่า ในมิติทางสังคมพ่อแม่ยังขาดอำนาจในการต่อรองกับลูก เห็นได้จากการซื้อรถจักรยานยนต์เป็นของขวัญวันเกิดหรือรางวัลเมื่อลูกสอบได้คะแนนดี จึงไม่กล้าขัดใจ ในขณะที่ค่ายรถจักรยานยนต์มีความพยายามโฆษณาส่งเสริมการขาย ซื้อง่ายขายคล่อง เน้นผลิตรถที่มีกำลังแรง และนำเสนอโปรโมชั่นสนับสนุนการขายต่างๆ โดยไม่กำหนดเงื่อนไขด้านความปลอดภัย จากสถานการณ์ดังกล่าว ศวปถ.และ สสส. ได้ร่วมกันสนับสนุนการจัดการความรู้และวิจัย ประเด็นจักรยานยนต์กับความปลอดภัยทางถนน รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลภาพรวมและพื้นที่ตัวอย่าง มุ่งลดจำนวนเด็กและเยาวชนที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ปฏิบัติการ ด้วยโมเดลการจัดการพฤติกรรมเสี่ยงและกายภาพ
“สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการคือการบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าของรถ หรือผู้ปกครองที่ปล่อยให้ลูกออกมาขับขี่โดยไม่สวมหมวกนิรภัยและไม่มีใบขับขี่ พร้อมทั้งควรมีระบบการสอบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุว่ามาจากด้านใดบ้าง เช่น ด้านพฤติกรรม ด้านยานพาหนะ (การดัดแปลงสภาพ) และนำผลที่ได้ไปดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ เพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่จะช่วยลดการใช้จักรยานยนต์ในกลุ่มเด็กเยาวชน เช่น รถประจำทาง รถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย รวมทั้งกำกับดูแลให้การโฆษณาส่งเสริมการขายต้องเน้นความปลอดภัย ไม่สื่อถึงความท้าทายหรือสมรรถนะความแรงของรถจักรยานยนต์” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
นางกลีบจันทร์ สินสมุทร แม่ผู้สูญเสียลูกชายคนเล็กวัย 14 ปี หลังซื้อมอเตอร์ไซค์ให้เป็นของขวัญได้เพียง 7 วัน เล่าว่า ลูกชายรบเร้าให้ซื้อรถมือสองให้ โดยแลกเปลี่ยนกับการไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ในวันที่เกิดเหตุลูกชายได้ออกไปลองรถกับเพื่อนๆ บนถนนสี่เลนส์ และด้วยทัศนวิสัยไม่ดี รถของน้องชนเข้ากับท้ายรถพ่วง ศีรษะกระแทกรถพ่วงอย่างรุนแรงจนเสียชีวิต ตนจึงอยากบอกคนที่เป็นพ่อแม่ว่า การซื้อรถจักรยานยนต์ให้ลูกวัยเด็กเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม อยากให้ดูความสูญเสียของตนเป็นอุทาหรณ์ และขอฝากไปยังผู้ขับขี่คนอื่นๆ ว่าควรสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง แม้ระยะทางแค่ใกล้ๆก็ตาม ซึ่งในวันนั้นตำรวจบอกกับแม่ว่า หากน้องสวมใส่หมวกกันน็อค อาจจะไม่ถึงขั้นเสียชีวิต
ด้านนายปัณณวิชญ์ คงศิลป แกนนำเครือข่าย 2 ล้อ สีน้ำเงิน และสมาชิกบลูโซนไรเดอร์ กล่าวว่า อันตรายของบิ๊กไบค์อยู่ที่การขาดทักษะ ขาดการฝึกอบรม ขาดความระมัดระวัง โดยปกติแล้วคนขับบิ๊กไบค์มักอยู่ในวัยทำงาน มีวุฒิภาวะเพียงพอในการขับขี่และตัดสินใจ และการเดินทางทุกครั้งจะต้องมีระบบเซฟตี้ที่เพียงพอ มีกฎกติกาชัดเจนที่ต้องปฏิบัติร่วมกันโดยเคร่งครัด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือมีเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่ นำบิ๊กไบค์ออกมาวิ่งบนท้องถนน ตนจึงขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อลดการสูญเสีย ขณะเดียวกันผู้ปกครองควรรักลูกอย่างมีเหตุผล เพราะการซื้อรถจักรยานยนต์ให้เปรียบเสมือนการยื่นความเสี่ยงให้กับลูกไปแล้วครึ่งหนึ่ง
“ผมขอเสนอทางออกทางหนึ่งสำหรับผู้ปกครองว่า หากบุตรหลานอยู่ในวัยที่พร้อมในการใช้รถ ควรแนะนำให้เข้ารวมกลุ่มบิ๊กไบค์กับผู้ใหญ่ กลุ่มที่มีมาตรฐานเพียงพอ เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้กฎระเบียบจากเพื่อนๆ พี่ๆ ในกลุ่ม และชวนกันขับขี่รถไปทำกิจกรรมจิตอาสาตามที่ต่างๆ ได้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ได้เห็นคุณค่าของตัวเอง ไม่สร้างปัญหาให้สังคม ซึ่งจุดนี้จะช่วยลดพฤติกรรมความคึกคะนองที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุในวัยรุ่นได้ เมื่อเขาได้เรียนรู้ ได้เสียสละ เขาจะคิดเป็นและเลือกเส้นทางที่ดีได้ด้วยตัวเอง” นายปัณณวิชญ์ กล่าว