ทีเอ็มบี ตอกย้ำการเป็นผู้นำการขายกองทุนรวม ร่วมเป็นพันธมิตรกับอีสท์สปริง พร้อมรับรู้กำไรจากดีล บลจ.ทหารไทย 1.2 หมื่นล้านบาท หนุนกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ งวด 9 เดือน เติบโต 76% มาอยู่ที่ 26,360 ล้านบาท และถือโอกาสเตรียมความพร้อม IFRS 9 โดยตั้งสำรองฯ เพิ่มจากระดับปกติ ส่งผลให้ Coverage ratio สูงขึ้นเป็น 157% และกำไรสุทธิ 9 เดือนอยู่ที่ 9,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54%
ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งผลประกอบการงวด 9 เดือน ปี 2561 โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ (PPOP) อยู่ที่ 26,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานหลักยังคงทรงตัว ขณะที่มีการรับรู้กำไรจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท จากการขายหุ้นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย จำกัด หรือ บลจ.ทหารไทย 65% เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรกับ อีสท์สปริง อินเวสต์เมนทส์ (สิงคโปร์) และกำไรจากการเปลี่ยนแปลงการควบคุมจากบริษัทย่อยเป็นบริษัทร่วม 35% ซึ่งจาก PPOP ที่สูงขึ้น ธนาคารจึงดำเนินการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นจากระดับปกติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ IFRS 9 และเพื่อดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ทำให้อัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสีย (Coverage ratio) สูงขึ้นเป็น 157% จาก 143% เมื่อสิ้นปีที่แล้ว ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากงวด 9 เดือน ปีก่อนหน้า
สำหรับผลดำเนินงานหลักงวด 9 เดือน ปี 2561 ทีเอ็มบีขยายฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นได้ 4.5% จากสิ้นปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 6.39 แสนล้านบาท ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเงินฝากลูกค้ารายย่อย ผ่านผลิตภัณฑ์หลักอย่าง เงินฝาก “ทีเอ็มบี โน-ฟิกซ์” (TMB No-Fixed) ที่เติบโต 13% หรือ 3.0 หมื่นล้านบาท และเงินฝาก ME Save ซึ่งเป็นเงินฝากรูปแบบดิจิทัล ที่เติบโตได้ 10% หรือ 4.1 พันล้านบาท
ทางด้านสินเชื่อ สินเชื่อคุณภาพเพิ่มขึ้น 3.3% มาอยู่ที่ 6.46 แสนล้านบาท ตามการเติบโตของสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น 13% หรือ 1.8 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ การขยายสินเชื่อบ้านเป็นไปอย่างรอบคอบ โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำ และวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 ล้านบาท ในส่วนของลูกค้าธุรกิจ สินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเติบโตได้ดีที่ 4% หรือ 9 พันล้านบาท สำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นผลมาจากการดำเนินการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังของธนาคาร ทำให้ภาพรวม 9 เดือน สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สำหรับส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย หรือ NIM อยู่ที่ 2.96% ลดลงจาก 3.16% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 2% มาอยู่ที่ 18,263 ล้านบาท และแม้รายได้ค่าธรรมเนียมชะลอลง 4% แต่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 127% มาอยู่ที่ 20,929 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 3 ธนาคารมีการบันทึกกำไร 1.2 หมื่นล้านบาท จากการขายหุ้นในบลจ.ทหารไทย จำนวน 65% ให้กับบริษัท พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย จำกัด เพื่อเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับอีสท์สปริง อินเวสต์เมนทส์ (สิงคโปร์) และกำไรจากการเปลี่ยนแปลงการควบคุมจากบริษัทย่อยเป็นบริษัทร่วม 35%
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “ทีเอ็มบีต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้กับลูกค้าโดยไม่ยึดติดกับการธนาคารในรูปแบบเดิมๆ โดยมั่นใจว่าการจับมือกับอีสท์สปริงจะส่งผลดีต่อลูกค้าทั้งของ ทีเอ็มบี และ บลจ.ทหารไทย เนื่องจากอีสท์สปริงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารสินทรัพย์ในระดับโลกและในหลายมิติของการลงทุน ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพของบลจ.ทหารไทย และตอกย้ำกลยุทธ์การให้บริการด้านกองทุนรวม หรือ ‘TMB Open Architecture’ ของทีเอ็มบี โดยลูกค้าของธนาคารจะได้รับบริการด้านการลงทุนจากผู้เชี่ยวชาญในระดับโลก และสามารถเข้าถึงกองทุนรวมชั้นนำจากต่างประเทศที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้ลูกค้า ‘Get More’ หรือ ‘ได้มากกว่า’
ทั้งนี้ ทีเอ็มบีให้บริการ ‘TMB Open Architecture’ ให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่มมาเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว โดยคัดสรรผลิตภัณฑ์กองทุนรวมคุณภาพจากบลจ.ชั้นนำ ทั้งยังขยายความร่วมมือเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคม บลจ.กรุงไทย เป็นบลจ.ล่าสุดที่เข้าร่วม TMB Open Architecture ทำให้ปัจจุบันลูกค้าสามารถเลือกลงทุนได้กับ 9 บลจ.ชั้นนำ ที่ทีเอ็มบี
ซึ่งกำไรพิเศษที่รับรู้เข้ามา ช่วยหนุนกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ งวด 9 เดือน เติบโต 76% มาอยู่ที่ 26,360 ล้านบาท ทีเอ็มบีจึงถือโอกาสเตรียมความพร้อมรับ IFRS9 ควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบ ผ่านการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นจากระดับปกติ โดยในไตรมาส 3 ธนาคารตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 9,386 ล้านบาท รวม 9 เดือน ดำเนินการตั้งสำรองฯ ไปแล้วทั้งสิ้น 14,071 ล้านบาท หนุนให้อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ Coverage ratio เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 157% จาก 143% ณ สิ้นปี 2560 ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพมีจำนวน 20,950 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ 2.69%
ทั้งนี้ ธนาคารมีกำไรสุทธิ งวด 9 เดือน ปี 2561 อยู่ที่ 9,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จาก 6,429 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พร้อมดูแลความเพียงพอของเงินกองทุนให้เป็นไปตามเกณฑ์ Basel III โดยอัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) อยู่ที่ 17.7% และ 13.8% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งกำหนดไว้ที่ 10.375% และ 7.875% ตามลำดับ”