นับเป็นประเด็นสำคัญของสังคมในปัจจุบัน สำหรับกรณีความผิดพลาดของการจัดรายการวิ่งมาราธอนที่ผ่านไปเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะเมื่อประเทศไทย หยิบยกการออกกำลังกายเป็นการพัฒนาคุณภาพของประชาชน แต่ในทางกลับกัน มาตรฐานของการจัดงานกลับถูกละเลยไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการทบทวนกันใหม่ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก นอกจากนั้นการประเมินความเสี่ยงของตัวนักกีฬาเองก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
หลายคนคงได้ทราบข่าวคราวเกี่ยวกับ “นักกีฬา” หรือ “นักวิ่ง” ที่หัวใจหยุดเต้น หรือเสียชีวิตจากภาวะหัวใจขาดเลือด ระหว่างการออกกำลังกาย เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตนักกีฬาไปแล้วหลายคน ล่าสุด มีนักวิ่งวัย เพียง 45 ปี วูบและเสียชีวิต ขณะลงแข่งมินิมาราธอน ทั้งๆ ที่แข็งแรงไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ และ วิ่งออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ
เรื่องนี้ทำให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่าง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ สพฉ. เล็งเห็นและเตรียมหามาตรการป้องกัน จึงจัดประชุมเสวนา เรื่อง “เล่นกีฬาปลอดภัย ห่างไกลการบาดเจ็บและเสียชีวิต ป้องกันได้อย่างไร” โดยมีผู้แทนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันกีฬา นักวิทยาศาสตร์ศาสตร์การกีฬา ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา (Sport Medicine) เข้าร่วมประชุม
เรืออากาศเอกนายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. ระบุว่า การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเล่นกีฬา มาจากหลายสาเหตุหลายปัจจัย เช่น หักโหมเล่นกีฬามากเกินไป ขาดการตรวจสอบความพร้อมของร่างกายก่อนเล่น เช่น การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ การวัดความดันโลหิต เรื่องนี้ ทำให้ สพฉ. เล็งเห็นถึงการเตรียมความพร้อม ป้องกันการเกิดเหตุ และตอบโต้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ประกอบกับสถานการณ์ในขณะนี้เห็นได้ชัดว่า การจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน หรือการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ช่วยชีวิตในสนามกีฬา หรือการจัดการแข่งขันกีฬา ยังไม่ถูกระบุให้เป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นจึงเห็นควรว่าต้องมีการจัดระบบที่ดี ที่สำคัญต้องสร้างความรู้ใหม่ รณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญในการป้องกันมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน มีการจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพบ่อยครั้ง ซึ่งก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินมากขึ้น ดังนั้นการ ดูแลตนเองให้มีความพร้อมก่อนออกกำลังกาย การจัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ แพทย์ภาคสนาม ให้พร้อม จึงเป็นเรื่องจำเป็น โดย สพฉ. ได้เร่งพัฒนาหลักสูตรทั้งระดับเบื้องต้น ขั้นสูง และเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินในกีฬาแต่ละประเภทให้มีความเหมาะสม พร้อมเน้นย้ำการเตรียมความพร้อม เครื่อง AED เพราะจะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยได้มากขึ้น
ด้านนาวาอากาศเอก (พิเศษ) ไพศาล จันทรพิทักษ์ ประธานฝ่ายแพทย์สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ระบุว่า เรื่องการแพทย์ฉุกเฉินกับการกีฬา ควรต้องผลักดันให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าให้รัฐสนับสนุนให้คนเล่นกีฬา โดยสามารถนำแผน Football Model มา ประยุกต์ใช้กับกีฬาประเภทอื่นๆ ได้ด้วย หลักๆ คือ เรื่องของการป้องกันการบาดเจ็บ และการเสียชีวิตจากปัญหาเรื่องหัวใจ เพราะที่ผ่านมา เราจะเห็นนักฟุตบอลเสียชีวิตอยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ควรสร้างความรู้เกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ทางแพทย์ เช่น การเคลื่อนไหวของร่างกาย สอนเรื่องการป้องกันการบาดเจ็บ การรักษาการบาดเจ็บ จะทำอย่างไรจึงจะกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิมได้เร็วที่สุด
และที่สำคัญคือควรตรวจร่างกายนักกีฬาก่อนทำการแข่งขัน ส่วนกรณีเมื่อมีเหตุฉุกเฉินก็ต้องมีมาตรการที่พร้อมจะรับมือ เช่น เข้าไปสนามแข่งทันที ไม่ต้องขอกรรมการ การจอดรถต้องไม่กีดขวางรถฉุกเฉิน และทีมต้องพร้อมเสมอ
นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุเช่นกันว่า ที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาเคยมีประสบการณ์จัดกิจกรรมวิ่งมาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งทุกครั้ง จะมีทีมแพทย์ดูแลทุกคนที่วิ่งตลอดเส้นทาง และคนวิ่งจะต้องอยู่ในสายตาของผู้จัดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นซอกหลืบตรงไหน จะต้องมองเห็นผู้วิ่งทุกคน และเครื่อง AED ต้องไปถึงภายใน 4 นาที หากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยที่มหาวิทยาลัย จะมีเครื่องติดตั้งอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ฯ มีนักศึกษาขี่จักรยานเข้าไปนำอุปกรณ์ และช่วยเหลือได้ง่าย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญที่จะป้องกันเหตุฉุกเฉิน คือนักกีฬาควรดูแลตัวเองก่อน เช่น ต้องรู้ว่าตัวเองมีโรคประจำตัว หรือไม่ ต้องรู้จักลิมิตและความฟิตของตัวเอง ทำร่างกายให้เหมาะสมกับประเภทของกีฬา แต่งกายให้เหมาะสมกับการเล่นกีฬา ส่วนผู้จัดงานเองการต้องมีความพร้อม เตรียมทีมแพทย์ไว้ให้พร้อม จัดให้ได้มาตรฐาน เช่น การจัดงานวิ่งต้องมีน้ำเตรียมไว้เพียงพอ เพราะนักกีฬาวิ่งจะเสียเหงื่อมาก
ขณะที่นายวิษณุ ไล่ชะพิษ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ กกท. ระบุว่า การจัดการแข่งขันกีฬา ผู้จัดต้องมีการเตรียมการเรื่องการดูแลกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่ง กกท.จะเน้นการเตรียมการของผู้จัดกีฬาเป็นพิเศษ เช่น การจัดกีฬาเยาวชนจะจัดในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นหน้าร้อน ดังนั้นต้องปรับเวลาให้พร้อมในการแข่งขัน หรือการวิ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดวิ่งปีละ 600-700 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Sport Tourism ซึ่งก็ต้องเตรียมดูแลเรื่องการบาดเจ็บที่ฉุกเฉินด้วย โดยเราจะต้องคำนึงอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรจะได้รับความปลอดภัยในการเล่นกีฬาให้มากที่สุด