“TMB HACKATHON” สร้างภาพลักษณ์สู่ “อีกก้าว” ของแบงก์ยุคใหม่

25

ทีเอ็มบีล้ำได้อีก นำแนวคิด HACKATHON ต่อยอดการทำงาน เน้นทีมสปิริต ระดมความคิดในการสร้างโซลูชัน ใหม่ๆ เผยนำแนวคิดมาปรับ และเปลี่ยนให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของทีเอ็มบี เพื่อใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างตรงจุด

นางกาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี กล่าวถึง การนำ แนวคิดของ HACKATHON มาปรับใช้ในธนาคารว่า “ก่อนหน้านั้น ชื่อของ HACKATHON เป็นที่รู้จัก และนิยมทำกันในแวดวงดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นสตาร์ทอัพ ที่มารวมตัวเพื่อระดมสมองและสร้างโซลูชันใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยในการหาโอกาสทางการตลาดให้กับธุรกิจ ปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่ของบ้านเรา เริ่มมีการจัด HACKATHON กันมากขึ้น เพื่อสนับสนุนและมองหาไอเดียใหม่ๆ จากคนภายนอกองค์กร คนในอุตสาหกรรม นักศึกษา รวมไปถึงผู้ประกอบการที่เป็นสตาร์ทอัพ ในขณะที่การจัด HACKATRON ของทีเอ็มบีเริ่มจัดกับคนภายในองค์กร วัตถุประสงค์ก็คือระดมสมองในการหาโซลูชันเพื่อแก้ปัญหาให้กับลูกค้า โดยจะเป็นหนึ่งแนวทางที่ทำให้เกิดการหาไอเดียใหม่ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาและให้บริการที่ดีกับลูกค้า”

นางกาญจนา กล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบของการทำ HACKATHON น่าจะนำมาปรับใช้กับการทำงานภายในองค์กรของทีเอ็มบีได้ จึงมีการจัดงาน TMB HACKATHON VALUE CHAIN 2018 ไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีการแบ่งทีมออกเป็น 9 แวลูเชน ให้แต่ละทีมทำการรวบรวมสมาชิกกันเอง ทำให้แต่ละทีมมีสมาชิกที่มีความหลากหลายจากทุกสายงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนในทีมไม่ว่าจะเป็นระดับบริหารหรือระดับปฏิบัติการต้องถอดหัวโขนของตัวเองออก แล้วมาร่วมกันคิดหาโซลูชันเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าในระยะเวลาที่จำกัด โดยงานนี้มีการทำเวิร์คช้อปกันเป็นระยะเวลา 2 วัน เพื่อระดมสมองในการแก้โจทย์ที่แต่ละทีมตั้งขึ้นมา ซึ่งทีมที่ชนะเลิศ 3 ทีม จะได้รางวัลเป็น Tech Trip เพื่อไปดูงานที่บริษัทอาลีบาบา ประเทศจีน

“เราเริ่มต้นด้วยการให้แต่ละทีมตั้งโจทย์ (Problem Statement) ที่จะแก้ปัญหาให้ลูกค้าด้วยตนเอง ทั้ง 9 ทีม นั่นคือการเริ่มต้นจากการตั้งโจทย์ โดยจะมีการ Pitching ด้วยว่า โจทย์ที่แต่ละทีมตั้งมานั้น ถูกต้องหรือเปล่า ซึ่งจะมีการตัดสินจากคณะกรรมการที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของทุกสายงานรวมถึงซีอีโอ จะร่วมกันชาเล้นจ์ (Challenge) การตั้งโจทย์ของแต่ละทีม พร้อมกับมีการ Pitching ว่ากรรมการท่านใดจะเป็นสปอนเซอร์ให้ทีมไหน ถ้าทีมใดยังไม่มีสปอนเซอร์ ก็ต้องกลับไปตั้งโจทย์กันใหม่ ไม่ใช่แค่พนักงานเท่านั้น แม้แต่ตัวผู้ร่วมทีมที่เป็นผู้บริหารก็จะถูกชาเล้นจ์เหมือนกัน โดยเราเชื่อว่า การตั้งโจทย์ที่ถูกต้อง จะทำให้เราแก้ปัญหาได้ถูกจุด หากเราตั้งโจทย์ผิดทาง จะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างแท้จริง ทำให้เราใช้เวลาชาเล้นจ์ในเรื่องของการตั้งโจทย์นานกว่าการหาคำตอบอีก”

นางกาญจนา กล่าวสรุปผลที่ได้จากการจัด TMB HACKATHON VALUE CHAIN 2018 ว่า ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ เพราะนอกจากจะได้แนวคิดวิธีการหาไอเดียใหม่ๆ ไปใช้ในการทำงาน ทั้งวิธีการตั้งคำถาม เทคนิคการพูดคุยกับลูกค้าเพื่อให้เข้าถึงปัญหาที่แท้จริง เพื่อนำมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการแล้ว สิ่งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับก็คือ ในเรื่องของความร่วมมือกันทำงานระหว่างแผนก ที่ในเวลาทำงานปกติ ต่างคนต่างทำงานตามหน้าที่ของตนในแต่ละแผนก ครั้งนี้จึงได้ในเรื่องของ “Team Spirit” ที่ผู้ร่วมทีมจากหลากหลายแผนก มาร่วมมือกันแก้ปัญหาให้กับลูกค้า ถือเป็นอีกความสำเร็จที่สามารถนำไปต่อยอดในการทำงานได้เป็นอย่างดี

ทีเอ็มบี เป็นธนาคารที่มีการปรับตัวภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการลดลำดับขั้นภายในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ ต่อมามีการสร้าง Agile Team เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการให้ลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งเสริมการทำงานที่มีประสิทธิภาพของแวลูเชน (Value Chain) เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ล่าสุดกับการจัด TMB HACKATHON VALUE CHAIN 2018 กิจกรรมที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างสายงาน (Cross Functional Collaboration) โดยมุ่งหวังการแก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อมุ่งสู่ความเป็นธนาคารที่ลูกค้าชื่นชอบและบอกต่อมากที่สุดในประเทศ