ศ.คลินิก นายแพทย์ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ ประธานวิชาการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า สถิติจากสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ยังเพิ่มขึ้นทุกปีทั่วโลก สิ่งที่พบได้บ่อยคู่กับการรักษาคือ ภาวะน้ำตาลต่ำในกระแสเลือด ประเทศไทยมีรายงานจาก RECAP study พบว่า ประมาณ 39.9% ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จะพบภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด 2 ซึ่งพบได้ทั้งในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับประทานยา และฉีดยาอินซูลิน อาการที่พบเด่นชัดคือจะมีอาการมือสั่น อ่อนเพลีย หงุดหงิด เหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่น หัวใจเต้นแรงและเร็ว หรือปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด ตาลาย หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นหมดสติ หรือ ถ้าเกิดในขณะนอนหลับ จะรู้สึกปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก ฝันร้าย ตื่นขึ้นมาเสื้อผ้าเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อ รู้สึกกระสับกระส่ายนอนต่อไม่ได้ หัวใจเต้นแรง ซึ่งอาจทำให้หมดสติ และอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ในผู้ป่วยบางรายเลือกวิธีลดขนาดยาลดน้ำตาลเพื่อเลี่ยงโอกาสที่จะเกิดภาวะนี้ จึงทำให้ ผลการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ประเด็นในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดถือว่ามีมูลค่าสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดชนิดรุนแรง (ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้) อาจจะมีค่าใช้จ่ายต่อครั้งสูงถึง 10,574-28,494 บาท3,4 ซึ่งเมื่อประเมินเป็นงบประมาณต่อปี ประเทศไทยสูญเสียค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดชนิดรุนแรงสูงถึง 2,491-6,714 ล้านบาทต่อปี2,4-6 จากการที่กล่าวมา ภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานถึง 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ผู้ป่วยมีคุณภาพการนอนที่ลดลง, ผลกระทบในการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง, ผลกระทบต่อการเรียนและการทำงาน, และยังส่งผลถึงสุขภาพโดยรวมของตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน
นอกเหนือจากแพทย์ที่ซักถามอาการภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดกับผู้ป่วยแล้ว ตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว คนรอบข้าง ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยกันในการลดความเสี่ยงการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำนี้ให้น้อยที่สุดเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดจากการรักษา