ได้มาเยือนทีไร อุทัยธานีก็ยังไม่เปลี่ยนไปไหนมาก แต่เราอาจจะเป็นเพียงผู้ผ่านทางมาเท่านั้น จึงไม่รู้ว่าปัจจุบัน วิถีชาวแพสะแกกรัง เปลี่ยนไปมากแล้ว
เราเดินทางมายังจังหวัดอุทัยธานีในทริปสั้นๆ โดยจะใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงในการล่องไปในแพ ซึ่งวันนี้เรามีแพพิเศษ ที่พิเศษก็เพราะเป็นแพจริงๆ ไม่ใช่เรือ อาจจะดูงงๆ เพราะปัจจุบัน การล่องชมแม่น้ำสะแกกรังจะใช้เรือเป็นหลัก และแพนี้ก็เกิดจากการรวมตัวของชุมชนลุ่มน้ำสะแกกรัง เป็นแพขนาดใหญ่ รับได้ถึง 120 คน เพิ่งเปิดเมื่อต้นปีนี่เอง โดยจะมีเรือลำหน้าลากไป และเรือลำหลังคอยบังคับทิศทาง
ตอนแรกก็ไม่เห็นหรอกว่า มีเรือลำเล็กๆ ด้านหลังแพด้วย แต่เพราะเดินมาซุกซนแถวห้องครัวซึ่งอยู่ส่วนด้านหลังแพ จึงได้เห็น คุณลุงหน้าตาแช่มชื่น ผู้อยู่เบื้องหลังในการล่องแพในวันนี้
ลุงไม่ได้อยู่ใกล้มากพอที่จะพูดคุยอะไรได้ และไม่อยากรบกวนสมาธิของแกเท่าไหร่นัก อีกอย่าง…ไม่ล่ะ! คงเป็นประเด็นหลักเสียมากกว่า เพราะกลิ่นหอมโชยมาของทอดมันปลากราย เย้ายวนให้หันไปสนใจมากกว่า แม่ครัวใจดียกชิ้นทอดมันขึ้นจากกระทะ วางแหมะลงในภาชนะพักให้น้ำมันสะเด็ด พร้อมถ้อยคำแห่งการรอคอย “อร่อยนะ ชิมเลยๆ อร่อยจริง”
แหม่…ก็รู้ว่าจะได้กินพร้อมอาหารเที่ยงที่รออยู่อีกไม่นานนี้แล้ว ยังจะขอเข้าเส้นชัยก่อนใครให้ได้ ชิมแล้วได้รู้ว่า กินทอดมันตอนขึ้นจากเตาใหม่ๆ นอกจากจะหอมขึ้นจมูกแล้ว มันยังร้อนด้วยนะ! ไม่เผลองับจนทำให้ปากพองเด็ดขาด
หลังจากแพออกจากฝั่งไปสักพัก ก็มีทีมงานออกมาบรรยาย พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญอีกท่านคือ “พันเอกจเร ศรีสุก” ที่เล่าเรื่องเรือนแพด้วยวาจาฉะฉาน ตรึงความสนใจของทุกคนไว้ในจุดเดียวกัน
“สภาพที่เราเห็นอยู่นี้ อาจจะไม่มีอีกแล้ว ไม่แน่ว่าอีกสิบยี่สิบปีก็อาจหมดไป เพราะฉะนั้น ภาพทุกภาพก็จะอาจจะกลายเป็นประวัติศาสตร์” พี่จเรบอก
เพราะในอดีต การใช้ชีวิตบนแพ เป็นเรื่องปกติของชาวแพแม่น้ำสะแกกรัง แต่วันนี้ นอกจากหลายครัวเรือนจะมีบ้านอยู่บนชายฝั่งด้วยแล้ว ข้อจำกัดบางอย่างก็ทำให้ต้องทิ้งเรือนแพจนทรุดโทรมและพังทลายลงไป
จากแต่ก่อน มีเรือนแพราว 300 หลัง ปัจจุบันเหลือเพียง 120 หลัง ขึ้นไปอยู่บนบกราว 50 ครัวเรือน
เรายังได้ทราบถึงข้อจำกัดบางอย่างของเรือนแพ เพราะแพทุกหลังมีทะเบียนบ้าน จึงเป็นคนที่อาศัยอยู่มานาน ซื้อขายไม่ได้ ปรับปรุงได้แต่ห้ามสร้างใหม่ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาหนึ่ง คนแพก็ต้องขยายครอบครัวและสร้างชีวิตในพื้นที่ที่มากกว่า ทำให้ภาพของเรือนแพค่อยๆ เลือนหาย
แต่ชาวเรือนแพที่ยังอยู่ ก็ยังคงวิถีชาวแพเช่นเดิม บางแพก็สร้างติดกันเป็นครอบครัวใหญ่ มีการปลูกพืชลอยน้ำ ที่จะเห็นมากสุดก็คือกระชังปลาที่อยู่ติดกับบ้านและ “ใบเตย” แทบจะเรียกได้ว่า เป็นลำน้ำแห่งเตยหอม พร้อมภาพของการประมงน้ำจืด
ระหว่างทางที่ผ่านไป เรายังได้รับไมตรีจิตจากเจ้าบ้าน บ้างก็โบกมือทักทาย บ้างก็ส่งเสียงสนทนากับทีมงานในเรือซึ่งคาดว่าจะรู้จักกันหมด
ถึงเวลากลับมาในช่วงที่ทุกคนรอคอย การได้ล่องชมบรรยากาศสองชายฝั่งน้ำ พร้อมอาหารท้องถิ่นที่ปรุงจากฝีมือแม่บ้านตัวจริง เป็นสิ่งที่ไม่อยากให้พลาด อาหารธรรมดาแต่หน้าตาดี๊ดี เรียงรายกันเข้ามา สะดุดตากับทอดมันและยักคิ้วให้ทีหนึ่ง ตามประสาที่คุ้นเคยกันแล้วเมื่อตอนต้น
แต่ที่สะดุด จากการได้ฟังคำบรรยาย ก็คือเมนูผัดเผ็ดไก่กับหน่อไม้ เป็นหน่อไม้รวกจากเขาสะแกกรัง ซึ่งไม่ได้หากินง่ายๆ แม่ครัวบอกว่า ซื้อจากตลาด บางวันก็มี บางวันก็ไม่มี บางวันก็หมดเร็ว
ไม่ได้เป็นคนที่มีความรู้สึกใดๆ กับหน่อไม้ และอาจจะค่อนข้างกินยาก แต่การได้ลงมาคลุกกับวิถีชุมชนแล้ว เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ลองในสิ่งที่ไม่เคยทำ แต่ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เพียงแต่ไม่ได้ตื่นเต้นกับเมนูที่มีหน่อไม้มาก่อน (ย้ำอีกครั้ง)
แต่ขอให้ลองเถอะ หน้าตาคุณจะเหมือนพิธีกรรายการอาหารในทันที มันหวานนิดๆ กรอบกรุบไม่น่าเชื่อ กินง่าย ไม่มีกลิ่นหน่อไม้ที่หลายคนอาจจะไม่ชอบ ตัวเครื่องผัดเผ็ดก็หอมเข้มกำลังดี กินได้ทั้งวง เผลอไม่นาน ก็ตักกันจนหมดจาน จนต้องขอเติม
แม้น้ำสะแกกรังได้ชื่อว่ามีปลาแรดที่อร่อย วันนี้ได้ชิมเมนูต้มยำปลาแรด รสชาติกำลังดี พร้อมด้วยทอดมันที่หนุบหนับ เคี้ยวกันแก้มตุ่ย เป็นอีกมื้อเรียบง่ายแต่อิ่มไม่เกรงใจลำไส้ กลับไปก็คงวิ่งหนีตาชั่งกันตามเคย
ถึงเวลากลับเข้าฝั่ง เรายังได้แวะเที่ยวชมวัดคู่บ้านคู่เมืองบริเวณท่าจอดแพ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำสะแกกรัง อันเป็นที่ตั้งของ “วัดอุโปสถาราม” ซึ่งตอนขาลงก็แอบไปเดินเลียบๆ เคียงๆ มาแล้ว
นับเป็นวัดที่สวยงามมาก มากจนไม่น่าเชื่อว่ายังเป็นสถานที่ที่เงียบสงบได้ขนาดนี้ ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่บางตา ทำให้เราเห็นตัวสถาปัตยกรรมอย่างเต็มตา วัดนี้มีอายุหลายร้อยปีแล้ว ความงามอันโดดเด่นคือลักษณะของสถาปัตยกรรม เช่น “มณฑปแปดเหลี่ยม” ศิลปะผสมระหว่างไทย จีน และตะวันตก
“เจดีย์สามสมัย” เจดีย์ 3 องค์ ทีมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน โดยมีทั้งเจดีย์หกเหลี่ยมแบบอยุธยา เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบรัตนโกสินทร์ และเจดีย์ทรงลอมฟางแบบสุโขทัย
กลายเป็นทริปสั้นๆ ที่เปี่ยมด้วยเรื่องราวดีๆ ฟ้าวันนี้แผดจ้าเป็นใจให้ความงามของวัดเปล่งประกาย ต้องเรียกว่าดีต่อใจนะอุทัยธานี ขับรถจากกรุงเทพฯมาก็ไม่ไกล แถมยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมายรออยู่ เสียดายว่าทริปนี้เราต้องเดินทางกันต่อไปยังที่อื่น จึงชื่นมื่นกับอุทัยได้เพียงแค่นี้
แต่แค่นี้แหละ…สุขใจแล้ว
ติดต่อท่องเที่ยวล่องแพแม้น้ำสะแกกรัง
ชุมชนลุ่มน้ำสะแกกรัง พี่โป๊ะ 083-9628716
(ค่าเรือพร้อมอาหารแบบหมู่คณะ 250 บาทต่อคน จำนวนหรือเมนูอาหาร สามารถติดต่อกับทางพี่โป๊ะได้โดยตรง)
สนใจผู้เชี่ยวชาญด้านลุ่มน้ำสะแกกรัง สำหรับการบรรยายเป็นหมู่คณะ
พันเอกจเร ศรีสุก 087-0398975