“ยาลดกรด” อันตรายแค่ไหน

109

เรามักจะได้ยินว่า ยาหลายประเภทเป็นยาที่รับประทานติดต่อเป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อร่างกายและอาจจะอันตรายถึงชีวิต ไม่นานนี้ หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ เช่น CNN หรือ The Guardian นำเสนอข่าวที่ว่า ยาลดกรดชนิด Proton Pump Inhibitor นั้น เพิ่มอัตราการเสียชีวิต ซึ่งสร้างความตระหนกเป็นอย่างยิ่งกับผู้คนโดยทั่วไป

ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ให้ข้อมูลเป็นความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ยาลดกรดกลุ่ม Proton Pump Inhibitors (PPIs) เป็นยาที่ใช้กันเป็นอย่างมากและแพร่หลายในปัจจุบันนับเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานมาตลอดเกือบ 30 ปีตั้งแต่มีการใช้ยาตัวแรก ยานี้สามารถใช้ได้ในหลากหลายกรณี อาทิ ใช้ในการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน ใช้เพื่อป้องกันเลือดออกในทางเดินอาหารในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงหรือมีภาวะเลือดออกง่าย เป็นต้น

ยากลุ่มนี้มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในการลดกรดที่สูงมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็เริ่มพบผลข้างเคียง และข้อจำกัดของยามากขึ้น  ตั้งแต่ปฏิกิริยาระหว่างยาโดยเฉพาะกับยาต้านเกล็ดเลือดที่ผู้ป่วยโรคหัวใจมักได้รับร่วมกันบ่อยๆ การเกิดแบคทีเรียในลำไส้เล็กเจริญเติบโตมากกว่าปกติเพราะยาลดกรดนั้นไปรบกวนสภาวะกรดด่างของทางเดินอาหาร การเพิ่มโอกาสการเกิดกระดูกหักโดยเฉพาะกระดูกสะโพกเพราะการดูดซึมแคลเซียมและฟอสเฟตที่ผิดปกติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มความเสี่ยงโรคไตเสื่อมเรื้อรังรวมถึงภาวะที่ไตได้รับบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน (acute kidney injury) ที่มีรายงานออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมา

จากรายงานข่าวที่ว่า ยาลดกรดเพิ่มอัตราการเสียชีวิตนั้น เป็นข้อมูลที่นำเสนอในวารสารแนวหน้าทางการแพทย์อย่าง British Medical Journal (BMJ) โดยทำการศึกษาแบบติดตามไปข้างหน้า รวบรวมข้อมูลการใช้ยาลดกรดชนิดนี้ และติดตามผลไปประมาณ 5 ปี เปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตโดยรวม ไม่ว่าใครที่ได้ฟังหัวข้อข่าวจากผลการศึกษานั้นล้วนตกใจกันเป็นธรรมดา เพราะเราใช้ยาลดกกรดชนิดนี้กันมากจริงๆ อีกทั้งยังซื้อหากันได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป หากทว่า ผลงานวิจัยเรื่องนี้ยังมีจุดน่าสงสัยหลายประเด็น เช่น การที่ไม่ได้แจกแจงโรคและสาเหตุที่เสียชีวิตให้ชัดเจน การที่งานวิจัยมีตัวรบกวนการศึกษาและโรคร่วมอื่นๆ อยู่มาก รวมถึงกลุ่มประชากรที่มีอายุประมาณ 60 ปีส่วนใหญ่เป็นชาวผิวขาวในอเมริกา

อย่างไรก็ตาม เราก็ควรระวังการใช้ยาลดกรดกันให้ดี เพราะในขณะเดียวกันนั้น ก็มีงานวิจัยหลายงานที่แสดงให้เห็นว่า ในปัจจุบันมีการใช้ยาลดกรดที่มากเกินความจำเป็น และไม่มีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสมโดยทั่วไปในทุกประเทศ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของกลุ่ม “Pharmacy Practice” ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2558 พบว่าแม้ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก็ยังมีการใช้ยาลดกรดเกินความจำเป็นอยู่หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา (65%) ออสเตรเลีย (63%) นิวซีแลนด์ (40%) และอิตาลี (68%) และโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลายโรคก็มักได้รับยานี้พ่วงเพิ่มไปด้วยอยู่บ่อยๆ ทำให้เราเริ่มพบผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นได้มากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าผู้ป่วยหลายคนได้ประโยชน์จากยาไม่คุ้มกับที่เสียไป

ดังนั้นจึงแนะนำว่า ขอให้เราใช้ยาลดกรดอย่างสมเหตุสมผล หยุดใช้ยาเมื่อไม่จำเป็น นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคทางเดินอาหาร รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็ถือว่าเป็นการรักษาโรคด้วยอยู่แล้วในตัว อย่าลืมว่าการดูแลร่างกายของเราให้แข็งแรงไม่ต้องพึ่งพายารักษาโรค ถือว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด หากมีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษาสามารถติดต่อทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด (โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (จังหวัดสมุทรปราการ) โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ (จังหวัดนครสวรรค์) โรงพยาบาลพิษณุเวช (จังหวัดพิษณุโลก) และโรงพยาบาลสหเวช (จังหวัดพิจิตร)) และสามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่ www.princhealth.com