ดนตรีเพื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

28

บรัสเซลส์ เบลเยียม : ในโอกาสเปิดตัวอัลบัมสตริงควอเต็ต “For Those Who Died Trying” และก่อนจะถึงวันสิทธิมนุษยชนโลกขององค์การสหประชาชาติ (10 ธันวาคม)  ได้มีการเปิดตัวการรณรงค์โดยใช้แฮชแท็ก #music4HRDs นับเป็นการรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดียเป็นครั้งแรก เพื่อเชื่อมโยงดนตรีเข้ากับการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

#music4HRDs เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ชุมชนเพลงคลาสสิก แสดงความสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งต่อสู้กับความอยุติธรรมและเผชิญกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับตนเอง ในระหว่างการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ที่ดิน และสิทธิมนุษยชน วงสตริงควอเต็ตทั้ง Mivos Quartet (นิวยอร์ก), Cong Quartet (ฮ่องกง), Bennewitz Quartet (ปราก) และ Nordic String Quartet (โคเปนเฮเกน) เป็นส่วนหนึ่งของวงควอเต็ตระดับโลกที่ได้รับการแสดงคัดเลือกให้แสดงดนตรีในโครงการนี้

ในฐานะนักดนตรีที่มีผลงานร่วมสมัย เราเห็นความสำคัญที่จะใช้พลังของดนตรี เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อโลกในทุกวันนี้” – MIVOS Quartet

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกสูญเสียชีวิต จากการปกป้องคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนนานัปการ เนื่องจากการเปิดโปงการลักลอบทิ้งของเสีย การตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมาย และการกว้านซื้อเวนคืนที่ดิน การต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและเหมืองแร่ถ่านหินที่ก่อมลพิษ ในขณะที่ผู้กระทำความผิดเหล่านี้แทบไม่เคยถูกดำเนินคดี

Frank Horvat

Protection International เป็นเอ็นจีโอสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ว่าจ้างให้ ลุค ดุกเกิลบี (Luke Duggleby) ช่างภาพ และแฟรงค์  ฮอร์วัต (Frank Horvat) นักแต่งเพลง เพื่อทำงานงานศิลปะจากเรื่องราว 35 เรื่องของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 37 คนที่ทั้งถูกสังหารหรือถูกอุ้มหายในประเทศไทย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทยกว่า 59 คน ถูกสังหารหรือถูกอุ้มหาย ส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการละเมิดและใช้ความรุนแรงต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากสุดแห่งหนึ่ง

“เราต้องการให้โครงการนี้ เผยให้เห็นสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย และสนับสนุนการทำงานที่ชอบธรรมของพวกเขา เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม” ลิเลียนา ดี มาร์โค โคเนน (Liliana De Marco Coenen) ผู้อำนวยการบริหาร Protection International กล่าว

รวมภาพถ่ายนักปกป้องสิทธิมนุษย์ชนชาวไทยที่ถูกสังหาร

ในขณะที่โลกกำลังเริ่มต้นการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 20 ปีของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ 70 ปีของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในวันที่ 10 ธันวาคม #music4HRDs เตือนให้เราทราบว่ายังมีภารกิจที่ต้องทำอีกมาก สิ่งสำคัญสำหรับผู้เป็นเหยื่อและครอบครัวคือ การทำให้คนไม่ลืมและไม่มองข้ามการต่อสู้และความตายของคนเหล่านี้ การยกย่องผู้ที่เสียชีวิตระหว่างการต่อสู้ในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และกระบวนการยุติธรรมที่ดีขึ้น ถือเป็นก้าวย่างสำคัญเพื่อยุติการสังหารเหล่านี้ #music4HRDs เป็นความพยายามที่จะเน้นให้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดหลบซ่อนตัวและก่อความรุนแรงต่อไปได้ การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั่วโลก

การร่วมมือกับศิลปินต่าง ๆ ทั้งลุคและแฟรงค์ รวมทั้งการร่วมมือกับวงสตริงควอเต็ตที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ เป็นประสบการณ์ที่ประทับใจพวกเรา และเราเชื่อว่า จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับประชาชนที่ได้ดูวีดิโอการแสดงของพวกเขา เราหวังว่าจะมีศิลปินมากขึ้นดำเนินการในลักษณะนี้ และเข้าร่วมกับการต่อสู้ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ดี มาร์โคกล่าว

สำหรับข้อมูลและวีดิโอล่าสุดจากวงสตริงควอเต็ตเหล่านี้ โปรดดู #music4HRDs หรือ www.music4HRDs.com

เกี่ยวกับบทเพลง

แฟรงค์ ฮอร์วัต ประพันธกรชาวแคนาดา เป็นผู้แต่งเพลงที่มีความยาว 70 นาทีและมี 35 มูฟเมนต์ เพื่อสะท้อนการต่อสู้ 35 เรื่องของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของไทย จากภาพถ่ายประกอบความเรียงของลุค ดุกเกิลบีในชุด For Those Who Died Trying แต่ละมูฟเมนต์ของเพลงที่ยาวสองนาที ใช้บรรเลงประกอบภาพถ่ายแต่ละภาพ เป็นการแสดงพลังของดนตรีและตัวอักษรประกอบชื่อของผู้เป็นเหยื่อแต่ละคน โดยแต่ละท่อนเพลงจะมีลักษณะของดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

“ดนตรีเหล่านี้ไม่ได้มุ่งเพื่อให้เกิดความโศกสลดล้วน ๆ แต่หากยังแสดงถึงความยืนหยัดต่อต้าน เพื่อให้ความทรงจำต่อวีรชนเหล่านี้ยั่งยืนสืบไป และหวังว่าจะกระตุ้นให้ผู้ฟังค้นพบความเป็นนักเคลื่อนไหวในตนเอง และต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนเห็นว่าสำคัญสำหรับโลกใบนี้”  แฟรงค์ ฮอร์วัต ผู้แต่งเพลงกล่าว

บทเพลงชิ้นนี้ได้รับการแสดงเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคมที่โตรอนโต โดยวง Mivos Quartet ที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากนิวยอร์ก และเป็นส่วนหนึ่งของอัลบั้มเพลง For Those Who Died Trying ที่ได้รับการจัดจำหน่ายเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนของค่ายเพลง ATMA Classique

เกี่ยวกับภาพถ่ายและความเรียง

ลุค ดุกเกิลบี ซึ่งทำงานอยู่ในประเทศไทย (www.lukeduggleby.com) เป็นผู้ถ่ายภาพและเขียนเรื่องราวในหัวข้อ For Those Who Died Trying เพื่อรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตจากการปกป้องสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยมีการนำภาพถ่ายของเหยื่อแต่ละคนไปวางไว้ในจุดเกิดเหตุแต่ละจุด ซึ่งเป็นจุดที่พวกเขาถูกสังหารหรือถูกอุ้มหาย หากเป็นไปได้

“สิ่งสำคัญสำหรับผู้เป็นเหยื่อและครอบครัวคือ การทำให้คนไม่ลืมและไม่มองข้ามการต่อสู้และความตายของคนเหล่านี้” ลุค ดุกเกิลบี ผู้ถ่ายภาพกล่าว

นิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้เปิดตัวที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2560 ด้วยความสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ต่อมาได้มีการนำนิทรรศการไปแสดงที่เจนีวา บรัสเซลส์ และเมคเคเลนที่เบลเยียม แพมโพลนา ที่สเปน เนเธอร์แลนด์ โตรอนโตที่แคนาดา และปารีส เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาในโอกาสการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

“ภาพถ่ายบุคคลที่เงียบงัน ดูมีขนาดเล็กและบอบบางในที่เกิดเหตุ….มองย้อนกลับมาที่ผู้ชม จากสถานที่ซึ่งเกิดเหตุที่น่ากลัวอย่างยิ่ง” The New York Times

เพื่อเฉลิมฉลองวันสิทธิมนุษยชนปีนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ให้รางวัลยกย่องลุค ดุกเกิลบี และกลุ่มผู้หหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เนื่องจากสมาชิกสกต.สี่คน (ผู้ชายสองและผู้หญิงสอง) เป็นภาพถ่ายที่ถูกรวมไว้ในนิทรรศการภาพถ่ายนี้ โดยจะมีพิธีมอบรางวัลที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม

Protection International เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรระหว่างประเทศที่มียุทธศาสตร์และเครื่องมือเพื่อคุ้มครอง ช่วยให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยง สามารถบริหารจัดการความปลอดภัยของตนเองได้  www.protectioninternational.org