สสส. ผนึก 6 หน่วยงานภาครัฐ-ประชาสังคม บูรณาการระบบดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้าน เชื่อมหน่วยงานผสานไร้รอยต่อ “นำเข้า-รักษา-ส่งต่อ” พัฒนาระบบ 6 จุด เผยกทม. คนไร้บ้านมีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง 30% แนะวิธีสังเกต “รุงรัง-ติดเหล้า-ตาขวาง-หวาดระแวง” พบเห็นแจ้ง 191 หรือ 1300
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 6 หน่วยงานภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และ มูลนิธิกระจกเงา ลงนามความร่วมมือ(MOU) ระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้านในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อช่วยเหลือดูแลให้ความคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้านเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการดำเนินการ และขยายครอบคลุมทุกเขตพื้นที่ของ กทม. ต่อไป
ศ.นพ. รณชัย คงสกนธ์ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาคนไร้บ้าน (Homeless) ปัจจุบันประเทศไทยมีคนไร้บ้านทั่วประเทศ 30,000 คน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคนไร้บ้าน 1,300 คน 30% มีปัญหาด้านสุขภาพจิตที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อสังคม 50% เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน ขาดความสามารถในการดูแลตนเอง และการขาดความรู้ในเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาล ทำให้กลุ่มคนไร้บ้านที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ขาดโอกาสในการได้รับสวัสดิการในการช่วยเหลือรักษาพยาบาลจากทางภาครัฐอย่างเหมาะสม จึงได้ผลักดันประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ สสส. เพื่อทำการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้านในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครให้มีประสิทธิภาพและมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการนำส่ง การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหรือบ้านพักชั่วคราว และการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้านเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้เกิดการบูรณาการความรู้และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและเครือข่ายภาคประชาชนในการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างและฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมทั้งการฝึกอาชีพและการหางานให้กับผู้ป่วยจิตเวชอาการทุเลาที่เสร็จสิ้นการบำบัดรักษาจากโรงพยาบาล เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตในสังคม และเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ในส่วนของสสส.สนับสนุนโครงการวิจัยการพัฒนาระบบการดูแลให้บริการด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ป่วยไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ศึกษาพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือและดำเนินโครงการนำร่องร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้ง 3 ระบบซึ่งได้แก่ ระบบนำเข้า ระบบรักษา และระบบจำหน่ายหรือส่งต่อ
“สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคนไร้บ้านที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยการสังเกตง่ายๆ คือ แต่งกายไม่สะอาด ผมเผ้ารุงรัง มีกลิ่นเหล้าหรือสารเสพติด ตาขวางไม่เป็นมิตร พูดคนเดียวหรือถามตอบไม่ตรงเรื่อง และมีท่าทีหวาดระแวง โดยแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 และศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เพื่อให้การช่วยเหลือตามระบบต่อไป ซึ่งสสส.ยังสนับสนุนให้จัดทำคู่มือการนำส่งผู้ป่วยไร้บ้านที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตสำหรับตำรวจ คู่มือระบบการดูแลให้บริการด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ป่วยไร้บ้านในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี ด้วย”นางภรณีกล่าว
ด้าน ดร.นิฤมน รัตนะรัต ผู้อำนวยการหลักสูตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขานโยบายสังคม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้จัดการโครงการวิจัย กล่าวว่า จากการวิจัยพบระบบการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้านมีปัญหาอุปสรรคหลายประการทำให้ขาดประสิทธิภาพการดำเนินการโดยเฉพาะการเชื่อมต่อของหน่วยงานต่าง สามารถสรุปขั้นตอนข้อเสนอในการพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ 6 จุด คือ
จุดที่ 1 ควรจัดตั้งศูนย์รับแจ้งข้อมูลคนไร้บ้านกลางทางโทรศัพท์ (Hot line หรือ call center) ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 และศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300
จุดที่ 2 ควรจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการคนไร้บ้านกลาง (Case manager center)
จุดที่ 3 ควรจัดตั้งศูนย์ข้อมูลคนไร้บ้านกลาง (Data base center)
จุดที่ 4 ควรทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) หรือจัดทำแนวทางการปฏิบัติร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลทั่วไปของรัฐที่รักษาโรคทางกายกับโรงพยาบาลจิตเวชในประสานงานร่วมกันในการส่งตัวและการรับตัวผู้ป่วยไร้บ้านเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล
จุดที่ 5 ควรกำหนดให้มีการประชุมให้ความช่วยเหลือร่วมกัน (Case conference) ระหว่างทีมสหวิชาชีพ
จุดที่ 6 ควรมีการพัฒนาระบบการฟื้นฟูผู้ป่วยในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถีโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐในด้านงบประมาณ บุคลากรและองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ภายในสถานคุ้มครอง
นอกจากนี้ ยังดำเนิน “โครงการขับเคลื่อนเชิงนโยบายระบบการดูแลให้บริการด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้าน” โครงการวิจัยระยะที่ 2 ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากโครงการวิจัยแรกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย