ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2561 เวลา 15.30 น. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัวและความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ และทำพิธีปล่อยขบวนรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ ณ ลานพระประชาบดี กระทรวง พม. สะพานขาว ถึง ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
นอกจากขบวนที่ปล่อยออกจากกระทรวง พม.1 เส้นทางแล้ว ยังมีขบวนอีก 3 เส้นทาง คือ เส้นทางที่ 2 จากสำนักงาน UN นำขบวน โดย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เส้นทางที่ 3 จากโรงแรมรัตนโกสินทร์(เดิม) นำขบวนโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเส้นทางที่ 4 จากถนนข้าวสาร นำขบวนโดย มูลนิธิฟ้าสีรุ้ง รวมทั้งสิ้นกว่า 1,000 คน
ทั้งนี้ เมื่อทุกขบวนรณรงค์เดินทางถึงลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เรียบร้อยแล้ว รมว.พม. จะกล่าวเปิดและขอบคุณภาคีเครือข่าย โดยมี นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นผู้กล่าวรายงาน สุดท้าย รมว.พม. ได้มอบเข็มสัญลักษณ์ริบบิ้นขาว แก่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และรับฟัง รับชมการแสดงทัศนะต่อปัญหาความรุนแรง และกิจกรรมมินิคอนเสิร์ต โดย เหล่าศิลปินดารานักแสดง
พลเอก อนันตพร กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงในทุกรูปแบบ นับเป็นปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปัญหาดังกล่าวปรากฏให้เห็นมาเป็นเวลานาน และพบว่ามีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี หากสังคมส่วนรวมยังขาดความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว อาจทำให้ผู้มีความเสี่ยงสูงไม่ได้รับการปกป้องหรือรู้เท่าทันปัญหาเท่าที่ควร หรือไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรี รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” ซึ่งมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวทุกปี โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเป็นหน่วยงานหลักของภาครัฐในการประสานการดำเนินงานการดังกล่าวกับภาคีภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างกระแสให้สังคมความตระหนักและตื่นตัวต่อปัญหา ร่วมเป็นหนึ่งเสียงในการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
พลเอก อนันตพร กล่าวต่ออีกว่า พม. ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ดังนั้น ในปีนี้ กระทรวงจึงกำหนดจัดกิจกรรมงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ภายใต้แนวคิด “He For She : ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง” โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้ชายมีบทบาทและส่วนร่วมในการยุติความรุนแรงฯ ดังกิจกรรมรณรงค์ที่จัดในช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2561 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยท่านรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด และประกาศเจตนารมณ์ในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว รวมทั้งแสดงความมุ่งมั่นว่ารัฐบาลกำหนดจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ ให้สังคมตระหนักถึงปัญหาและยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์ฯ พร้อมกันทั่วประเทศในวันนี้ (25 พ.ย. 61) รวมทั้งให้มีการดำเนินกิจกรรมรณรงค์ฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความรุนแรงหมดไปจากสังคมไทย เป็นที่น่ายินดีว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเฉพาะในพื้นที่ กทม. ในวันนี้ มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชน ได้แก่ ข้าราชการ ตำรวจ นักเรียน นิสิต นักศึกษา มูลนิธิภาคอกชนต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป ออกมาร่วมเดินรณรงค์กว่า 1,000 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมร่วมกัน
“หากพบเห็นการกระทำความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ สามารถแจ้งเหตุหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม. โทรฟรีตลอด 24 ชม. ที่เบอร์โทรศัพท์ 1300 ได้ทั่วประเทศ หรือเข้ารับบริการได้ที่ศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข หรือสถานีตำรวจทุกแห่ง” พลเอกอนันตพร กล่าวในตอนท้าย