หากคนเราได้ใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิต จะรู้ได้ว่า “สุขภาพ” คือเรื่องที่สำคัญที่สุด เราจะเลือกซื้อเลือกกินอาหาร จะไม่เลือกซื้อขยะมากิน เมื่อคนมีเหตุผล ก็จะทำให้เกษตรกรทำตามเหตุผลนั้น การปลูกพืชปลอดสารเคมีจะเป็นที่แพร่หลายมากกว่านี้ และตัวเกษตรกรเองก็จะปลูกเพื่อกิน เลี้ยงตัวเองให้ได้ก่อนนำไปขาย
คำอธิบายสั้นๆ ที่ได้ใจความโดยปราชญ์ชาวบ้าน “โจน จันใด” หนึ่งในแรงพลังผลักดันของโครงการ ’พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ที่ให้ความคิดเห็นไว้อย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งตัวท่านเองรู้ดีว่า อุปสรรคหนึ่งของการกินเพื่อสุขภาพ คือ เรื่องของราคา เพราะปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่า พืชผักและผลผลิตที่ปลอดสารเคมี ยังคงมีราคาสูง เนื่องจากต้นทุนอย่างการขนส่ง แต่ท่านเชื่อว่า หากคนไทยหันมาใช้เหตุผล และร่วมกันสนับสนุนอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมี ราคาก็จะต่ำลง และไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อสุขภาพต่อตัวเองเท่านั้น แต่หมายถึง น้ำ ป่า ที่สะอาดและสมบูรณ์ขึ้น
6 ปีที่ผ่านมา เราได้ทราบถึงโครงการดีๆ อย่าง ’พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ซึ่งมาจากความร่วมมือของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พร้อมพันธมิตรจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะเครือข่ายเกษตรกรที่สร้างทำจนโครงการนี้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมให้ทุกคนนำไปปรับใช้กับตัวเองได้
ล่าสุด ได้ทำการประกาศความสำเร็จโครงการ ’พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ปี 6 ซึ่งหมายถึงการจบเฟสที่ 2 “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี” ด้วยชุมชนต้นแบบใน 4 จังหวัดทั่วประเทศ และประกาศเตรียมเปิดเฟส 3 ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย ยกระดับสู่การแข่งขัน วางรากฐานการพัฒนามนุษย์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเชื่อมโยง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เนื่องในวันดินโลก พ.ศ.2561 ที่จะมาถึงในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การสหประชาชาติ (UN) มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันดินโลก เพื่อสืบสานศาสตร์พระราชา และน้อมสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาดิน รวมทั้งสร้างความตระหนักด้านการจัดการทรัพยากรดินเพื่อความมั่นคงทางอาหารโลกอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิด ‘Be the solution to soil pollution’ เน้นเรื่องมลพิษทางดินซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร
โครงการ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ มุ่งเน้นในการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาในการจัดการดิน น้ำ ป่า ตลอด 6 ปีเต็มที่ผ่านมาและประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้ชุมชนทั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำอื่นๆ ร่วมกันฟื้นฟูดิน ด้วยการสร้างหลุมขนมครกเพื่อกักเก็บน้ำ การปลูกหญ้าแฝกเพื่อฟื้นฟูดินและป้องกันดินพังทลาย ส่งเสริมการทำกสิกรรมธรรมชาติ ขับเคลื่อนการทำเกษตรอินทรีย์โดยให้ความรู้ในเรื่องการใช้สารชีวภาพทดแทนสารเคมีในการป้องกันแมลงที่เป็นศัตรูพืช การทำปุ๋ยชีวภาพ และการล้างพิษสารเคมีในดินด้วยน้ำหมักชีวภาพ เพิ่มความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นการสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร จึงนับว่าเป็นโครงการที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของวันดินโลกในปีนี้โดยตรง
“โลกรู้แล้วว่าอาหารคือความมั่นคงของมนุษยชาติ เรื่องสำคัญที่สุดคือ เรื่องดิน รองลงมาคือ น้ำ ป่า และพรรณพืช แต่ที่สำคัญคือต้องสร้างความเชื่อที่ถูกต้อง หรือ My Set ว่านี่คือเรื่องสำคัญกับชีวิตมนุษย์จริงๆ ผู้นำประเทศมหาอำนาจ ผู้ที่มีความสามารถทางการเงินสูง เขารู้แล้วว่าอาหารคือความมั่นคงแห่งชีวิต ที่ส่งผลถึงความมั่นคงของประเทศ เพราะแม้แต่กองทัพก็ต้องเดินด้วยท้อง อาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ” นายวิวัฒน์ กล่าว
สำหรับโครงการฯ ปีนี้ นับเป็นการสิ้นสุดการดำเนินงานในเฟสที่ 2 คือ ระยะของการแตกตัว ซึ่งในปีถัดไปโครงการฯ จะก้าวต่อไปสู่เฟสที่ 3 คือ การขยายผลเชื่อมโยงทั้งระบบ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย ยกระดับสู่การแข่งขัน วางรากฐานการพัฒนามนุษย์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเชื่อมโยง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศต่อไป
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า โครงการฯ นี้ตอบโจทย์เรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านสังคมขององค์กรที่มุ่งเน้นการสร้างคน องค์ความรู้ และจิตสำนึกที่ดี จึงทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเห็นว่าศาสตร์พระราชานั้นพิสูจน์แล้วว่าแก้ปัญหาได้ในทุกพื้นที่หากลงมือทำจริง และสามารถสร้างต้นแบบและแรงบันดาลใจให้เกิดการขยายผลต่อไป
“เราทำโครงการนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าใช้เวลาอย่างน้อย 9 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ที่เป็นปีแรกที่เชฟรอนน้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ในการจัดการดิน-น้ำ-ป่า-คน สู่การปฏิบัติ เพื่อหยุดท่วม หยุดแล้งอย่างยั่งยืน และขยายผลจากลุ่มน้ำป่าสักที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงริเริ่มไว้ ไปสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ ในปีแรกๆ สิ่งที่เราทำเป็นเรื่องแปลกในสังคม วันนี้เราเห็นชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้กระจายตัวทั่วประเทศ และมีคนสนใจแนวคิดนี้มากขึ้น เราจะยังทำงานร่วมกับพันธมิตร ลงมือและเรียนรู้ระหว่างทางไปตลอดว่าแบบไหนทำแล้วสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ พอไปถึงจุดหนึ่งเราจะมองหาคอขวดตัวต่อๆ ไป” นายอาทิตย์กล่าว
สำหรับปีนี้ โครงการฯ ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานตามแนวคิด “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี” โดยมีผู้ให้ความสนใจร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้นถึง 2,510 คน เข้าร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมใน 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี สระบุรี และน่าน โดยแต่ละพื้นที่มีสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้าง “คนต้นแบบ” ที่หลากหลายให้ผู้คนมาเรียนรู้และส่งต่อแรงบันดาลใจต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” เพิ่มเติมได้หลายช่องทาง อาทิ เฟซบุ๊ก: พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน, เว็บไซต์ https://ajourneyinspiredbytheking.org, Instagram: ajourneyinspiredbytheking, Line ID: @inspiredbytheking, YouTube: inspiredbytheking