“หากจะเป็นจิตรกรอาชีพต้องเก่งรอบด้าน ทั้งฝีมือและการขาย”

1798

เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ในวัย 63 ปี ใช้ชีวิตบั้นปลายส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดเชียงราย ท่ามกลางขุนเขาและสายหมอก แม้จะใช้ชีวิตอย่างสงบสุขและสร้างสรรค์ผลงานดีๆ แต่เขายังคงแบ่งปันเวลาช่วยพัฒนาวงการศิลปะในบ้านเรา หวังที่จะฟูมฟักจิตรกรน้อยๆให้เติบโตใหญ่เป็นจิตรกรอาชีพ ไม่เพียงแค่มีฝีมือ แต่ยังต้องมีความสามารถรอบด้าน เพื่อสร้างสรรค์งานที่ดีและขายงานของตัวเองให้ได้

จิตรกรรุ่นใหม่เก่งมากขึ้น    

ในยุค 4.0 หลายคนมองว่า โลกของจิตรกรรมอาจจะหมุนเปลี่ยนตามโลกไม่ทันและศักยภาพของจิตรกรอาจจะถูกบดบังด้วยพลังของเทคโนโลยี ทว่าอาจารย์เฉลิมชัยไม่คิดเช่นนั้น กลับมองว่า เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างให้พัฒนาการของวงการจิตรกรรมเดินหน้ามากขึ้นไปอีก เห็นได้ว่า จิตรกรรุ่นใหม่มีความสามารถมากขึ้น ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพเขียนออกมาด้วยมุมมองที่น่าสนใจ สืบเนื่องมาจากพวกเขาได้ผสมผสานจินตนาการเข้ากับองค์ความรู้ที่ได้จากโลกอินเตอร์เน็ต การเข้าถึงโลกออนไลน์ ถือเป็น “คลัง” ข้อมูล ช่วยเปิดโลกทัศน์ ไม่ว่าจะเข้าไปดูงานศิลปะของศิลปินระดับโลก ค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือต่างๆในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือเข้าดูผลงานในพิพิธภัณฑ์ต่างๆในต่างประเทศ ตรงกันข้ามกับศิลปินรุ่นเขา ที่ต้องศึกษาค้นคว้าจาก “หนังสือ” ในรูปแบบของ “กระดาษ” ซึ่งค่อนข้างจะมีอย่างจำกัด

เก่งอย่างเดียวไม่พอ

อย่างไรก็ตาม อาจารย์บอกว่า ฝีมืออย่างเดียวไม่พอสำหรับยุคนี้ หากใครอยากเป็นจิตรกรอาชีพ มีรายได้เพื่อดำรงชีพ อาจารย์แนะนำว่า จำเป็นต้องพัฒนาทักษะด้านต่างๆควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการจัดการ การตลาด การสื่อสาร การเข้าสังคม การแสดงการศิลปะ หรือการสร้างเครือข่าย ที่ผ่านมา มีจิตรกรที่มีฝีมือจำนวนมากมาย ผลิตงานดีๆออกมา แต่ไม่สามารถขายงานได้ เนื่องจาก พวกเขามีอารมณ์ศิลปินเป็นที่ตั้ง การสื่อสารไม่เก่ง ไม่สามารถพูดโน้มน้าวผู้สนใจให้ซื้อได้ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพมากนัก

อาจารย์ยกตัวอย่างชีวิตของเขาให้พวกเราได้ฟังว่า ตัวเขาเองมีเป้าหมายชัดเจนคือ ต้องการเป็นศิลปินอาชีพให้ได้ หลังจากจบจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็มุ่งจะเป็นจิตรกรอาชีพอย่างเต็มตัว ในช่วงแรก งานบางชิ้นขายได้ราว 1,500 บาท แต่ก็ต้องอดทนกันไป แต่เมื่อมีชื่อเสียงมากขึ้น ผลงานก็ได้รับความสนใจในวงกว้าง ทำให้มีคนเข้ามาซื้อและราคาชิ้นงานก็จะถีบตัวขึ้นตามลำดับ การที่อาจารย์ประสบความสำเร็จการเป็นจิตรกรอาชีพ ไม่เพียงมีแค่ “ฝีมือ” แต่มาจากความพยายามที่จะเรียนรู้หลักการขายงานและยังมี “ความอดทน” สูง แม้ว่าจะเผชิญกับอุปสรรคหรือความยากลำบากก็ตามที ก็ไม่เลิกล้มความตั้งใจในเส้นทางสายนี้ ปัจจุบัน รูปภาพที่เคยวาดในวัยหนุ่มที่ขายในราคาราว 3,000 บาท ราคาทะยานขึ้นราว 3 ล้านบาทในตลาดศิลปะในประเทศสหรัฐฯ

หอพระพิฆเนศ วัดร่องขุ่น

ปัจจุบันอาจารย์ไม่ได้วาดภาพเพื่อจำหน่ายอีกแล้ว แต่วาดรูปเพื่อความสุข รายได้ในชีวิตประจำวันมาจากค่าลิขสิทธิ์ภาพวาดในการผลิตผลงานซ้ำ อย่างไรก็ตาม อาจารย์ไม่บอกว่า ในชีวิตมีรายได้จากการขายรูปเท่าไร และรูปไหนมีราคาสูงสุด เพียงแต่บอกว่า วัดร่องขุ่นที่อาจารย์สร้างขึ้นมา ใช้เงินไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาทและจวบจนวันนี้ การก่อสร้างก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จำเป็นต้องสร้างต่อไป

ชีวิตอีกด้าน ได้ช่วยสร้างจิตรกรรุ่นเยาว์ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ปัจจุบัน อาจารย์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน โครงการประกวดศิลปิน “ดาวเด่นบัวหลวง 101” ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อ “ก้าวใหม่: ศิลปะไทยวิวัฒน์” ซึ่งจัดโดยหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับ มูลนิธิบัวหลวง ถือเป็นเวทีสร้างสรรค์ให้ศิลปินรุ่นใหม่มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริง