ทักษะผู้นำในอนาคต กับอาชีพที่ยังยากคาดเดา

32

ที่ผ่านมา เมื่อเด็กๆ ถูกถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร คนรุ่นเก่าก็จะคิดได้แค่อาชีพที่พบเห็นในชีวิตประจำวันอย่าง ทหาร ตำรวจ ครู หรือแพทย์ แต่คนอีกรุ่นกลับนึกถึงอาชีพรุ่นใหม่ อย่างโปรแกรมเมอร์ นักวิจัย หรือนักสร้างภาพยนตร์ จากนั้นมาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ตลอดจนการเข้ามาของหุ่นยนต์ จนวันนี้เราไม่อาจคาดเดาว่า ในอนาคตงานในฝันของคนยุคต่อไป จะมีหน้าตาแบบไหน แล้วทักษะของผู้บริหารในโลกข้างหน้าจะเป็นเช่นไร

ประเด็นที่น่าสนใจนี้ มาจากงานสัมมนาของ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ หรือ Chulalongkorn Business School โดยได้นำผู้บริหารระดับสูงจากสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจอันดับ 1 ของ QS World University Rankings 2018 จากสามประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ และฮ่องกง มาร่วมเป็นวิทยากรฟันธงทักษะที่ผู้นำต้องมีในอนาคต เนื่องในโอกาสครบรอบสถาปนาคณะฯ 80 ปี

เนื่องในโอกาสที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chulalongkorn Business School ครบรอบ 80 ปี จึงได้จัดสัมมนาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ Flagship Summit 2018: Skills for the Future โดยมีวิทยากร คือ ศ.คาร์ ยัน ทัม (Prof.Kar Yan Tam) คณบดี School of Business and Management, Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) ศ.ฮัม ซิน ฮุน  (Prof. Hum Sin Hoon) รองคณบดี NUS Business School, National University of Singapore และ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี Chulalongkorn Business School ซึ่งสถาบันทั้งสามล้วนเป็นสถาบันด้านบริหารธุรกิจอันดับที่ 1 ของแต่ละประเทศจากการจัดอันดับของ QS World University Rankings ประเทศอังกฤษประจำปี 2018

ภายในงานเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงภาพรวม เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทอย่างสูงในอาชีพการงาน โดย  ศ.คาร์ ยัน ทัม (Prof.Kar Yan Tam) คณบดี School of Business and Management, Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) กล่าวถึงงานประเภทที่ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ ไม่สามารถทดแทนได้ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทักษะด้านการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking), ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity), ความเอาใจใส่ดูแล (Caring), การทำงานเป็นทีม (Teamwork) และ กระบวนการทางความคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneur Mindset) โดย 85% ของงานที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2030 ยังไม่ได้รับการสร้างเป็นอาชีพหรืองาน หากแต่ทักษะของงานใหม่ ต้องอาศัยความชำนาญด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูง ฉะนั้นในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่งานในอนาคต โดยเฉพาะอาชีพที่ถูกทดแทนง่าย ต้องให้ได้รับการเทรนนิ่ง, สถาบันการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตร เน้นการคิดเชิงวิพากษ์, ความเอาใจใส่ดูแล และความคิดสร้างสรรค์ โดยต้องลงทุนกับครูอาจารย์ผู้สอน เพื่อให้อัพเดทอยู่ตลอดเวลา ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ถ้าพนักงานได้รับเทรนที่ถูกต้อง สำหรับทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับโลกดิจิทัล เทคโนโลยี จะทำให้คนและปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ สามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรจะได้รับประโยชน์สูงสุด

ในขณะที่สิงคโปร์ได้เตรียมรับการเปลี่ยนแปลง โดยให้พลเมืองมีวินัยในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ศ.ฮัม ซิน ฮุน (Prof. Hum Sin Hoon) รองคณบดี NUS Business School, National University of Singapore กล่าวถึงทักษะแห่งอนาคต ว่า ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงที่เกิดขึ้นรวดเร็ว ทำให้อาชีพการงานเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้ไม่ทราบถึงงานในอนาคต โดย 65% ของนักเรียนประถมศึกษาในวันนี้ จะมีอาชีพการงานที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นในเวลานี้ ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือการเตรียมพร้อมนักศึกษาสำหรับอนาคต ด้วยความรู้ด้านดาต้าที่ต้องวิเคราะห์และอ่านขาดด้วยข้อมูลที่จะเพิ่มมากขึ้น และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ด้านเทคโนโลยีที่ต้องมีพื้นฐานทั้งการโค้ดดิ้ง โปรแกรม และต้องเข้าใจการทำงานของเหล่าปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ เพื่อจะสามารถควบคุมให้ถูกต้อง และสุดท้ายด้านที่สำคัญคือ มนุษยสัมพันธ์ ซึ่งโลกทุกวันนี้เริ่มขาดแคลน เป็นสังคมก้มหน้า ต้องสอนให้รู้จักตัวตน การเข้าสังคม รู้จักการสื่อสาร ในขณะที่โลกเปลี่ยนทุกวัน ทักษะแห่งอนาคตที่ขาดไม่ได้คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นทักษะระดับชาติของสิงคโปร์ ที่มุ่งเน้นให้พลเมืองทุกคนต้องใส่ใจใฝ่หาความรู้ พัฒนาตนเอง โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนทั้งระบบ และมหาวิทยาลัย เอกชน มีบทบาทเข้ามาเสริม อาทิ ให้นักศึกษากลับมาลงคอร์สเรียนหลังจากจบจากมหาวิทยาลัยภายใน 20 ปี เพื่อพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ

ปิดท้ายด้วย รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี Chulalongkorn Business School ที่กล่าวถึงยุคการเปลี่ยนแปลงผู้นำในโลกอนาคต ควรมีทักษะด้านใดบ้าง โดยได้ระบุว่าจากการศึกษาและสอบถามผู้นำในระดับต่างๆ ในประเทศไทย ถึงคุณลักษณะที่สำคัญของผู้นำที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ผู้นำต้องมีคุณลักษณะ  3 ประการ ได้แก่ 1) ความสามารถในการบริหารการเปลี่ยนแปลง โดยผู้นำต้องมีทักษะในการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมผ่านการเล่าเรื่องที่มีประเด็นที่ชัดเจน ความกล้าที่จะเสี่ยงแม้สถานการณ์จะคลุมเครือ และ การมุ่งเน้นผลสำเร็จมากกว่ากระบวนการ 2) การจูงใจทีมงานให้มุ่งผลสัมฤทธิ์ จะพบว่าผู้นำในอนาคตจะต้องทำงานกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งในการทำงานกับคนรุ่นใหม่ให้ประสบผลสำเร็จนั้น จะต้องประกอบด้วยทั้งในส่วนของงาน และส่วนของความสัมพันธ์ โดยในส่วนของงาน ผลจากการวิจัยพบว่า ผู้นำที่ดีจะต้องหาโอกาสใหม่ๆ ให้บุคลากรรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และแสดงความสามารถ จะให้โอกาสมีส่วนร่วมในการออกแบบและวางแผนงาน และให้โอกาสคิดและตัดสินใจในงานที่รับผิดชอบ  ส่วนในด้านความสัมพันธ์นั้น ผู้นำที่ดีจะต้องให้คนที่อยู่ด้วยรู้สึกสนุกกับการทำงาน ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างให้ลูกน้องทำตาม และรู้จักตั้งคำถามให้ลูกน้องสะท้อนความคิด 3) วิธีการคิด ทักษะที่สำคัญสามประการที่ผู้นำจะต้องมี ภายใต้เรื่องของการคิดนั้น ประกอบด้วย การคิดเป็นระบบ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และ การคิดริเริ่มให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การมีวินัยในการพัฒนาตนเอง เรียนรู้ตลอดชีวิต อาจเป็นแนวทางรอดในการเผชิญกับยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง