การสูบบุหรี่นอกจากสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูบและบุคคลที่อยู่ใกล้แล้ว ยังเป็นหนึ่งในขยะที่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่ทางทะเล ซึ่งที่ผ่านมาก้นบุหรี่คือขยะที่พบมากทั้งในทะเลและชายหาด
ล่าสุด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้ามาตรการห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เชื่อมต่อจากชายหาด ทำให้พื้นที่ชายหาดและบริเวณใกล้เคียงปลอดบุหรี่อย่างต่อเนื่อง เริ่ม 3 กุมภาพันธ์ 2562 ที่จะถึงนี้ ทุกภาคส่วนพร้อมขับเคลื่อนในพื้นที่ชายหาดปลอดบุหรี่นำร่องทั้ง 24 หาดอย่างเข้มข้น เพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการสูบบุหรี่และการทิ้งก้นบุหรี่ พร้อมสนับสนุนให้ทุกชายหาดในไทยเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ในอนาคตต่อไป
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการชายหาดปลอดบุหรี่ เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงประชาชนในพื้นที่ โดยทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยร่วมกัน โดยเฉพาะบริเวณชายหาดที่มีแนวโน้มจะถูกทำลายจากการสูบและการทิ้งก้นบุหรี่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ รวมทั้งคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชน และประชาชนบริเวณพื้นที่ดังกล่าว
โดยเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันดำเนินการนำร่องใน 24 หาด 15 จังหวัด ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในด้านการป้องกันภัยคุกคามทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และภัยสุขภาพจากบุหรี่บริเวณพื้นที่ชายหาด เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ประกอบด้วย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมควบคุมโรค กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรี ในพื้นที่ 24 หาด และภาคเอกชน
สำหรับชายหาดที่เข้าร่วมโครงการนำร่องทั้งสิ้น 24 หาดใน 15 จังหวัด ประกอบด้วย 1.หาดทรายบานชื่น จ.ตราด 2.หาดทรายแหลมเสด็จ จ.จันทบุรี 3.หาดทรายแสงจันทร์ จ.ระยอง 4.หาดทรายบางแสน จ.ชลบุรี 5.หาดทรายถ้ำพัง จ.ชลบุรี 6.หาดทรายแก้ว จ.ชลบุรี 7.ชายหาดดงตาล พัทยา จ.ชลบุรี 8.ชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี 9.ชายหาดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 10.ชายหาดเขาตะเกียบ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 11.ชายหาดทรายรี จ.ชุมพร 12.ชายหาดบ่อผุด จ.สุราษฎร์ธานี 13.ชายหาดโฉลกบ้านเก่า เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี 14.ชายหาดปลายทราย จ.นครศรีธรรมราช 15.ชายหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา 16.ชายหาดวาสุกรี จ.ปัตตานี 17.ชายหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต 18.ชายหาดเกาะไข่นอก จ.พังงา 19.ชายหาดเกาะไข่ใน จ.พังงา 20.ชายหาดเขาหลัก จ.พังงา 21.ชายหาดพระแอะ จ.กระบี่ 22.ชายหาดคลองดาว จ.กระบี่ 23.ชายหาดคอกวาง จ.กระบี่ และ 24.ชายหาดสำราญ จ.ตรัง ซึ่งกรมควบคุมโรค โดยสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ ได้จัดให้มีการพัฒนาศักยภาพและเชื่อมต่อองค์ความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้กับเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่รับผิดชอบชายหาดปลอดบุหรี่นำร่องทั้ง 24 แห่งไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา
ซึ่งมาตรการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไม่ให้ได้รับความเสียหาย จากการสูบบุหรี่และการทิ้งก้นบุหรี่ รวมทั้งการทิ้งขยะมูลฝอยต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเลและบริเวณชายหาด
โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ออกคำสั่งที่1064/2560 เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบริเวณชายหาดจากการสูบบุหรี่ ทิ้งก้นบุหรี่และขยะมูลฝอย โดยอาศัยอำนาจตามในมาตรา 17 ประกอบมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 สำหรับบทลงโทษผู้ที่สูบบุหรี่ หรือทิ้งก้นบุหรี่บริเวณชายหาด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องของทุกภาคส่วน ทำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้รับไม้ต่อดำเนินมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะปลอดบุหรี่ในส่วนของพื้นที่ที่เชื่อมต่อจากชายหาด เช่น ร้านอาหาร ร้ายขายของฝาก ของที่ระลึก สวนสาธารณะซึ่งมีพื้นที่เชื่อมต่อมาจากชายหาด โดยกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ ที่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 ที่จะถึงนี้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในสถานที่ดังกล่าว จะต้องถูกเปรียบเทียบปรับไม่เกิน 5,000 บาท เนื่องจากฝ่าฝืนมาตรา 42 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 และพร้อมสนับสนุนให้ทุกชายหาดในประเทศไทยเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ในอนาคต ต่อไป