เฝ้าระวัง 4อาการทางจิตผู้ประสบภัยน้ำท่วมหลังน้ำลด

106

ภาพรวมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่สกลนครเครียดรุนแรง2-4% ส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวได้ คาดในช่วงน้ำลดจำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจะเพิ่มขึ้น เตรียมพร้อมแผนรับมือ กำชับทีมจิตแพทย์เฝ้าระวังเป็นพิเศษ 4 อาการทางจิตใจ ได้แก่ อาการโรคพีทีเอสดี อาการเครียดวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และภาวะติดสุราและสารเสพติด แนะประชาชนทุกคนช่วยกันสอดส่องอาการผิดปกติคนในครอบครัว คนรู้จัก หากพบอย่าปล่อยอยู่คนเดียว ให้รีบพาไปพบแพทย์รักษาทันที ป้องกันอาการลุกลามจนกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชและป้องกันการฆ่าตัวตาย

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุเซินกาที่ศูนย์พักพิงโรงยิมศูนย์ราชการ อ.เมืองจ.สกลนครซึ่งมีประมาณ 50 คน และเยี่ยมให้กำลังใจทีมจิตแพทย์ที่ปฏิบัติงานดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตร่วมในทีมแพทย์เคลื่อนที่ประจำศูนย์พักพิงว่า จากการพูดคุยกับผู้สูงอายุและเด็กที่ศูนย์พักพิงที่โรงยิม พบว่ามีขวัญกำลังใจดีมาก ยิ้มแย้มแจ่มใสดี โดยในภาพรวมของการดูแลจิตใจประชาชนในช่วงวิกฤติฉุกเฉินช่วงแรกที่ผ่านมา ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการร่วมกับพื้นที่และอาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม.เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเน้นการปฐมพยาบาลทางจิตใจเพื่อให้กำลังใจ ลดความเครียด ตื่นตระหนก คลายความวิตกกังวล หรืออาการท้อแท้สิ้นหวังให้แก่ผู้ประสบภัยทุกวัยอย่างรวดเร็วและให้ได้มากที่สุด ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวชที่อาจเกิดตามมา ผลการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตพบว่าส่วนใหญ่มีความเครียดในระดับไม่มาก และเริ่มปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ มีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการเครียดรุนแรงพบร้อยละ 2-4 ของผู้ประสบภัยทั้งหมด ขณะนี้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม.แล้ว

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์คาดว่าในช่วงที่น้ำลดนี้ ซึ่งเป็นระยะของการฟื้นฟู จำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเห็นความเสียหายของทรัพย์สินปรากฎชัดเจนขึ้น รวมทั้งในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมสุขภาพจิต ได้เตรียมแผนรับมือฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับคืนสู่สภาพปกติ โดยส่งทีมแพทย์พยาบาลออกเยี่ยมบ้าน ตรวจคัดกรองสุขภาพจิตทั้งผู้ประสบภัยทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงที่มีความเปราะบางทางจิตใจได้แก่ ผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังประจำตัว ผู้พิการ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูญเสียคนรัก ทรัพย์สิน และให้เฝ้าระวัง 4 อาการ ได้แก่ 1. อาการของโรคเครียดรุนแรงหรือโรคพีทีเอสดี 2. ความเครียดและวิตกกังวล 3.ภาวะซึมเศร้า และ 4 ภาวะติดเหล้าและสารเสพติด หากพบต้องรีบดูแลรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามจนกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช และที่รุนแรงที่เน้นหนักที่สุดคือการฆ่าตัวตาย ซึ่งได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกันในพื้นที่น้ำท่วมทุกแห่ง ในส่วนของจ.สกลนครซึ่งได้รับผลกระทบหนัก กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมจิตแพทย์จากรพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์ ปฏิบัติงานที่อ.อากาศอำนวยเพิ่มอีก 1 ทีม

ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวว่า ในช่วงหลังน้ำลด 1-2 สัปดาห์นี้ รพ.จิตเวชนครพนมฯ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 ได้วางแผนป้องกันปัญหาสุขภาพจิตร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือตรวจคัดกรองความเครียดในสถานพยาบาล ในชุมชนโดยออกเยี่ยมบ้านร่วมกับทีมควบคุมป้องโรคติดต่อ ทีมฟื้นฟูอนามัยสิ่งแวดล้อม หากพบรายใดมีความเครียด จะให้การดูแลรักษาทันทีและติดตามผลต่อเนื่อง 1 เดือนและ 6 เดือน หรือจนกว่าจะกลับคืนสู่สภาวะปกติ และการให้ความรู้คำแนะนำประชาชนผ่านทางหอกระจายข่าวและอสม. ทั้งนี้โดยทั่วไปหลังประสบภัยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จะปรับตัวได้ภายใน 1-3 เดือน สำหรับโรคเครียดรุนแรงนั้น โดยทั่วไปจะพบได้หลังเกิดเหตุการณ์ 3-6 เดือน แต่บางคนอาจเกิดได้เร็วกว่า มีอาการคือ ฝันร้ายถึงเหตุการณ์บ่อยๆ รู้สึกว่าจะเกิดซ้ำๆอีก นอนไม่หลับ ตกใจง่าย ไม่มีสมาธิ อาการนี้หากเกิดในเด็กเล็ก จะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง ทำให้ตัดสินใจไม่ดี ไม่มีสมาธิการเรียน รู้สึกไม่มีคุณค่า อาจมีอารมณ์ก้าวร้าวเมื่อโตขึ้น

ส่วนผู้ที่มีความเครียดและวิตกกังวล จะมีอาการตื่นตระหนก มักมีมือสั่น ใจสั่น เหงื่อออก มักจะมีอาการปรากฏทางกายร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะบ่อยๆ ท้องอืด แน่นจุกเสียด ปั่นป่วนในท้อง คลื่นไส้ อ่อนเพลียไม่มีแรง นอนหลับยาก ในส่วนของภาวะซึมเศร้า จะมีทั้งอาการทางกายปรากฎเช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ทำงานไม่ไหว ปวดหัวบ่อยๆ ท้องอืด จุกเสียด นอนไม่หลับ และอาการทางจิตใจคือ อารมณ์เศร้าหมอง ท้อแท้ ร้องไห้ง่าย เบื่อหน่าย ลืมบ่อย ใจลอย อยากตาย รู้สึกชีวิตไม่มีความหมาย ซึ่งเป็นภาวะที่มีอันตรายมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ง่าย สำหรับภาวะติดเหล้าและสารเสพติด เป็นการแก้ไขปัญหาทางออกชีวิตที่ไม่เหมาะสม จะนำไปสู่การสูญเสียความสามารถด้านต่างๆ เช่นความจำ อารมณ์ หากผู้ประสบภัยมีอาการดังกล่าวขอให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง ในส่วนของประชาชนทั่วไปหากพบผู้ประสบภัยหรือคนในครอบครัวหรือคนรู้จัก มีปัญหาและอาการที่กล่าวมา อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว ขอให้รีบไปพูดคุยและแจ้งอสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที เพื่อให้ได้รับการบำบัดรักษาโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะมีโอกาสหายขาดได้สูง