ขึ้นดอยชมวิถีชาวลาหู่ ที่หมู่บ้านห้วยปลาหลด

599

“หมู่บ้านห้วยปลาหลด” เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมลาหู่ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “ต้นแบบการฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่ยั่งยืนของประเทศไทย” นอกจากนั้นยังมีความน่าสนใจจากวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ ชวนให้ทุกคนเข้าไปร่วมสัมผัส

 จุดกำเนิดงานพัฒนาชาวเขาในยุคแรก ๆ  ปี พ.ศ. 2494 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเข้าไปสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ห่างไกลคมนาคม เนื่องจากเห็นว่าปัญหาด้านความมั่นคงของชาติและปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตของชาวเขาเป็นปัญหาที่สำคัญ จึงส่งตำรวจตระเวณชายแดนเป็นหน่วยบุกเบิก และ กรมประชาสงเคราะห์ (ปัจจุบันกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) เข้าไปให้สนับสนุนภารกิจช่วยเหลือพัฒนาชาวเขาให้เกิดการรวมกลุ่ม

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2502 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้ง “นิคมสร้างตนเองและสงเคราะห์ชาวเขา” เป็นการทดลองขึ้นที่จังหวัดตาก เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ เลย และพิษณุโลก ดำเนินการสังคมสงเคราะห์  พัฒนาด้านอาชีพการเกษตรและอุตสาหกรรมในครัวเรือนแทนการปลูกฝิ่น ส่งเสริมด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย เพื่อให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดระยะเวลา 6 ศตวรรษผ่านมา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเข้าไปพัฒนาชาวเขาในพื้นที่จังหวัดตากอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จจากการส่งเสริมด้านอาชีพ ส่งเสริมสวัสดิการชุมชน ส่งเสริมอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม และอนุรักษ์ป่าทำให้ “หมู่บ้านห้วยปลาหลด” เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมลาหู่ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “ต้นแบบการฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่ยั่งยืนของประเทศไทย”

นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า จากข้อมูลเชื่อว่า “ลาหู่” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “มูเซอ” มีต้นกำเนิดอยู่บริเวณราบสูงธิเบต มีความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์กับชนเผ่าโลโลในทางตอนใต้ของจีนร่วมกับลีซูและอาข่า ลาหู่มีการอพยพย้ายถิ่นฐานตลอดเวลาในช่วงหลายศตวรรษแถบบริเวณประเทศจีน พม่า ลาว และไทย ซึ่งในประเทศไทยพบลาหู่ใน 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร และนครสวรรค์  ลาหู่มีหลายประเภท เช่น ลาหู่แดง ลาหู่เหลือง ลาหู่ดำ หรือ ลาหู่เฌเล ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว ยึดถือระบบผัวเดียวเมียเดียว สำหรับการสืบสกุลนั้นไม่ถือระเบียบเคร่งครัดหากมีการแต่งงานเกิดขึ้นฝ่ายชายอาจจะไปอาศัยอยู่กับฝ่ายหญิงเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อเป็นการตอบแทนต่อฝ่ายหญิง  การประกอบอาชีพในอดีตลาหู่จะปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย จนทำให้ผืนดินหมดความอุดมสมบูรณ์กลายเป็นภูเขาหัวโล้น แต่ปัจจุบันกลับพลิกวิกฤตเป็นโอกาส พลิกฟื้นพื้นที่กลายเป็นหมู่บ้านอนุรักษ์ป่าที่เข้มแข็งตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9

หมู่บ้านห้วยปลาหลดมีบริการที่พักโฮมสเตย์ให้สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจวิถีอัตลักษณ์ชนเผ่า ท่านจะได้สัมผัสและเรียนรู้ความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ เรียนรู้วิธีบริหารจัดการน้ำฝายกักเก็บน้ำที่เป็นเสมือนหัวใจหลักของหมู่บ้านที่ใช้หล่อเลี้ยงชาวชุมชนให้มีน้ำไว้อุปโภคบริโภค และยังนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ท่านจะได้สัมผัส “ซุปเปอร์มาเก็ตชาวเขา” ซุปเปอร์มาเก็ตที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงมีพืชผักผลไม้นานาพรรณให้เก็บบริโภคได้ตลอดทั้งปี ลิ้มรสกาแฟสดจากต้น หรือ เก็บมาคั่วชงดื่มสดๆ เยี่ยมชมตลาดดอยมูเซอ และชมทะเลหมอก 360 องศาที่ “ลอ กอ ค๊อ” ชื่นชมความงามของผืนป่าอุดมสมบูรณ์กว้างสุด ลูกหูลูกตา ผลผลิตจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวลาหู่ชุมชนรักษ์ป่า โปรโมชั่นพิเศษช่วงเดือนธันวาคม 2561 – กุมภาพันธ์ 2562  มีดังนี้

  1. ที่พักโฮมสเตย์ ลด 150 บาท จากปกติ 550 บาท เหลือเพียง 400 บาท/คน
  2. เต้นท์ หลังละ 200 บาทเท่านั้น
  3. แพ็กเกจท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน ลดเหลือเพียง 1,440 บาท/คน

ขอเชิญชวนผู้มีใจรักอัตลักษณ์วิถีชีวิตคนบนดอย ลองมาสัมผัสความงดงามของชนเผ่าลาหู่ ที่จังหวัดตาก สิ่งที่ได้รับไม่ใช่แค่การท่องเที่ยว แต่ท่านจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานสวัสดิการในชุมชน รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งจะนำมาพัฒนาชุมชน ต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชนให้เกิดความยั่งยืน อีกส่วนหนึ่งจะนำมาจัดสวัสดิการให้แก่คนในชุมชน หรือผู้ด้อยโอกาสในชุมชน เช่น เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุคนเร่ร่อน เป็นต้น สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงตาก โทร. 0 5550 8831 หรือ นายจักรกฤช  ตาประยูร ประธานกลุ่มการท่องเที่ยวบ้านห้วยปลาหลด  09 3230 5255 หรือFacebook : Homestay บ้านห้วยปลาหลด จ.ตาก

โปรแกรมท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน ราคา 1,440 บาท/คน

วันที่ 1

09.00 น.จุดนัดพบต้นไม้ของพ่อ ชิมกาแฟ ชมตลาดคนอยู่กับป่าตามแนวพระราชดำริ ที่เขตอุทยานตากสินมหาราช

09.45 น. ทำบุญไหว้พระ วัดถ้ำจุนโทปฏิปทาราม

11.00 น.เรียนรู้กระบวนการผลิตภัณฑ์ดอยมูเซอ ณ ไร่กาแฟจักรพงษ์ มงคลคีรี

12.00 น. รับประทานอาหารกลางวันอาหารท้องถิ่น (ผักและน้ำพริกมูเซอ)

13.00 น.ชมอัตลักษณ์ความเป็นอยู่ชุมชนวิถีมูเซอดำ เช่น สาธิตการตีมีด การเย็บผ้า และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้าน

16.00 น. เข้าบ้านพักโฮมสเตย์

18.00 น.รับประทานอาหารเย็น ณ บ้านพัก โฮมสเตย์เป็นอาหารพื้นบ้าน เช่น น้ำพริกมูเซอ ผักต้มปลอดสารพิษ และหมูต้ม จากนั้นชมการแสดงการเต้นจ๊ะคึ หรือการแสดงระบำมูเซอ

20.00 น. พักผ่อนหย่อนใจ

วันที่ 2

06.30 น.กิจกรรมยามเช้าชมทะเลหมอก “ลอ กอ ค๊อ” ณ จุด Check in

07.30 น.รับประทานอาหารเช้า ณ บ้านพักโฮมสเตย์

08.00 น.- เรียนรู้ภูมิปัญญาการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า

– ศึกษาเส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติ จุดชมวิว สะพานหิน ถ้ำน้ำตกและชมต้นผึ้ง การปลูก
ผักอินทรีย์การปลูกกาแฟดอยมูเซอ (เส้นทางเดินป่า)

11.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน

12.30 น. เดินทางกลับชุมชน

13.00 น. – เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ 6 ชนเผ่า

– เลือกซื้อสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น ณ ตลาดดอยมูเซอ

14.30 น.เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ

**************************************************************